จอกบ่วาย : Drosera burmannii เป็นพืชกินสัตว์ขนาดเล็กอยู่ในสกุลหยาดน้ำค้างเป็นพืชฤดูเดียว มีลักษณะลำต้นแนบไปกับพื้น ใบเป็นแผ่นมนรี ค่อนข้างหนา ลักษณะคล้ายช้อน เรียงกันเป็นรูปวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5 ถึง 3 ซม. มีขน จอกบ่วายเป็นหยาดน้ำค้างที่มีกับดักแบบเร็ว เมื่อดักจับแมลงได้ใบจะโอบล้อมแมลงในสองสามวินาที ขณะที่ชนิดอื่นใช้เวลาเป็นนาทีหรือชั่วโมง
จอกบ่วายมีลำต้นจะแนบอยู่กับพื้นดิน ใบเป็นกระจุกแบบกุหลาบซ้อนหนาแน่นที่โคนแนบชิดติดดิน เส้นผ่าศูนย์กลาง ตั้งแต่ 1.5 – 3 ซม. แผ่นใบเป็นแผ่นมนรีรูปไข่กลับหรือทรงกลม ค่อนข้างหนา กว้างประมาณ 0.5-0.8 ซม. ยาวประมาณ 0.6-1.5 ซม.ที่
ใบจะมีขนเล็กๆเป็นจำนวนมาก มีสีแดงเรื่อถึงแดง ปลายขนจะมีเมือกใสเกาะอยู่ คล้ายกับหยาดน้ำค้าง ดอกดอกออกใจกลางต้น ตั้งตรง ช่อดอกสูง 5 -15 ซม. กลีบดอกมีสีขาว
จอกบ่วายมีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง พบในแถบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย ศรีลังกา ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ส่วนใหญ่ในประเทศไทยพบทุกภาคขึ้นตามที่ชื้นแฉะ ที่โล่งและดินที่ไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามภูเขาหินทราย
ในยาพื้นบ้านอีสาน ใช้จอกบ่วายทั้งต้นแห้ง ดองเหล้าดื่ม แก้ท้องมาน ทั้งต้นสด ขยี้ทาแก้กลากเกลื้อน ในตำรายาไทย ใช้ ทั้งต้น แก้บิด ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ไข้มาลาเรีย ตามตำรายาของฮินดูจอกบ่วายมีคุณสมบัติทำให้ผิวหนังแดงจากการที่เลือดคั่ง
(298)