ตะขาบยักษ์แอมะซอน ( Scolopendra gigantea) เป็นตะขาบชนิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในสกุล Scolopendra โดยปกติเมื่อโตเต็มที่จะยาว 26 เซนติเมตร แต่บางครั้งก็สามารถโตได้ถึง 30 เซนติเมตร เป็นสัตว์เลี้ยงที่เป็นที่นิยมในบรรดาผู้นิยมสัตว์ประเภทสัตว์แปลก ๆ แต่ไม่ควรจับมันโดยไม่มีเครื่องป้องกัน แม้เพียงแค่ผิวหนังสัมผัสถูกพิษก็ทำให้เกิดอันตรายได้
ตะขาบชนิดนี้อาศัยอยู่ทางแถบเหนือและตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้ และตามเกาะแก่งของประเทศตรินิแดดและจาไมกา เป็นสัตว์กินเนื้อ โดยกินจิ้งจก, กบ, นก, หนู และแม้แต่ค้างคาวเป็นอาหาร และขึ้นชื่อในเรื่องความดุร้าย
ร่างกายประกอบไปด้วยปล้องจำนวน 21-23 ปล้อง ปล้องมีสีทองแดงหรือสีแดงอมม่วง แต่ละปล้องมีขาสีเหลืองอ่อน 1 คู่ ขาแต่ละข้างสามารถเดินได้อย่างรวดเร็ว (หรือแม้แต่วิ่ง) และจับเหยื่อได้อย่างแน่นหนาก่อนที่จะฆ่า
ตะขาบชนิดนี้มีเขี้ยวที่เรียกว่า Forcipule เรียงเป็นแนวโค้งอยู่รอบ ๆ หัว ซึ่งพัฒนาให้สามารถปล่อยพิษเข้าไปในตัวเหยื่อได้ พิษประกอบด้วยสารอะเซทิลคอลีน ฮิสตามีน เซโรโทนิน ซึ่งเป็นพิษต่อร่างกายมนุษย์ ทำให้เกิดแผลเหมือนถูกตัวต่อต่อย แผลจะบวมอย่างรุนแรง และตามด้วยอาการไข้สูง
ตะขาบยักษแอมะซอนตัวเมียจะคอยดูแลและปกป้องรังที่มีไข่ของตนเอง ตัวอ่อนจะมีสีแดงเข้มหรือสีดำ ลำตัวบาง และมีหัวกลมใหญ่สีแดง มีวงจรชีวิตลอกคราบหลายครั้งก่อนที่จะโตเต็มวัย
(22033)