นกกะรางหัวขวาน : Hoopoe เป็นนกขนาดกลาง มีลักษณะเด่นที่จำง่ายคือมีหงอนคล้ายหมวกของพวกอินเดียแดง พบทั่วไปในประเทศไทย เป็นนกขนาดกลาง ลำตัวเพรียวยาวประมาณ 30 เซนติเมตร มีลักษณะเด่นที่จำง่ายคือ มีหงอนคล้ายหมวกของพวกอินเดียแดงในอเมริกาสมัยก่อน ลำตัวมีลายขวางสีน้ำตาลอ่อน หรือขาวสลับดำ ปากยาวเรียวโค้ง ซึ่งมีลักษณะเหมือนกันทั้งตัวผู้และตัวเมีย
ตัวเมียจะมีขนาดเล็กกว่า และสีจางกว่าตัวผู้เล็กน้อย ขณะแม่นกกกลูกอยู่ในรัง จะมีต่อมขับของเหลวที่มีกลิ่นเหม็นออกมา กลิ่นนี้มาจากต่อมน้ำมันไซ้ขน เชื่อกันว่านกกะรางหัวขวานใช้กลิ่นเหม็นนี้ป้องกันตัวไม่ให้สัตว์อื่นเข้าใกล้
นกกะรางหัวขวานกระจายพันธุ์เป็นวงกว้างในยุโรป, เอเชีย, และตอนเหนือของแอฟริกา, แอฟริกากึ่งซาฮาราและประเทศมาดากัสการ์ นกในยุโรปและตอนเหนือของเอเชียจะอพยพไปสู่เขตร้อนในฤดูหนาว เมื่อเทียบกับนกในแอฟริกาซึ่งเป็นนกประจำถิ่น ในประเทศไทย นกกะรางหัวขวานเป็นนกประจำถิ่นที่พบทั่วทั้งประเทศไทย
ชอบอยู่ตามทุ่งโล่ง ป่าเบญจพรรณ ป่าละเมาะ และพื้นที่เกษตรกรรม ทุ่งนาที่พอมีต้นไม้อยู่บ้าง อาจอยู่รวมกันเป็นฝูง ชอบส่งเสียงร้อง”ฮูป ฮูป ฮูป” หรือ “ฮูป ปู ปู” เวลาเดินส่ายหัวไปมา คุ้ยเขี่ยหาแมลงและหนอนตามพื้นดิน
ไม่ชอบอาบน้ำ แต่ชอบอาบทรายร้อนๆ แทนอาบน้ำ อาหารได้แก่ แมลง และตัวอ่อนของแมลง นกกระรางหัวขวานทำรังในซอกไม้หรือซอกกำแพงเก่าๆ รังสร้างด้วยฟางและเศษขน เป็นรังที่สกปรกมาก ในรังมีทั้งเศษอาหารและอุจจาระของตัวเอง วางไข่คราวละ 4-6 ฟอง ไข่สีฟ้าซีด ตัวเมียกกไข่ ส่วนตัวผู้จะหาอาหารมาให้
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535
(3545)