พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชหัวทรงศึกษาที่เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตั้งแต่ชั้นประถมจนทรงจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยโลซานน์ ในสาขาวิชากฎหมายและวิชารัฐศาสตร์ ทรงรอบรู้ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน และภาษาละตินเป็นอย่างดี
พระองค์ทรงศึกษาภาษาไทยอย่างจริงจังเมื่อทรงเจริญวัยแล้ว และทรงใช้ภาษาไทยได้เป็นที่จับใจทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงสนพระราชหฤทัยในงานด้านวรรณศิลป์ไม่น้อยไปกว่าศิลปะสาขาอื่น
เมื่อข้าพเจ้าจากสยามสู่สวิสแลนด์, ๒๔๘๙
พระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ‘เมื่อข้าพเจ้าจากสยามมาสู่สวิทเซอร์แลนด์’ เป็นพระราชนิพนธ์แรกที่พระราชทานแก่ วงวรรณคดี อันเป็นบันทึกความทรงจำ หลังจากที่ทรง ‘รับ’ คำกราบบังคมทูลอัญเชิญขึ้นสืบสันตติวงศ์ไอศวรรย์สมบัติแล้ว จำต้องเสด็จฯ กลับไปทรงศึกษาต่อ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๙
นายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ (แปล), ๒๕๓๗
เรื่อง นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ ทรงแปลจากเรื่อง A Man called Intrepid ของ William Stevenson เป็นเรื่องจากชีวิตจริงของเซอร์วิลเลียม สตีเฟนสัน หัวหน้าหน่วยสืบราชการลับอาสาสมัครของอังกฤษ ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งมีรหัสลับว่า Intrepid (นายอินทร์) ซึ่งหมายถึง “ไม่รู้จักกลัว ไม่รู้จักหวาด กล้าหาญแต่ไม่เหี้ยม สู้ศัตรูทั้งภายนอกภายในอย่างไม่ท้อถอย ไม่น้อยใจ ไม่หยุดยั้ง” ทำหน้าที่สืบหาความลับทางการทหารของเยอรมัน รายงานต่อ เซอร์วินสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีอังกฤษ และประธานาธิบดีรูสเวลต์ของสหรัฐอเมริกา ทำให้อังกฤษและอเมริการ่วมมือกันขัดขวางการขยายอำนาจของนาซีได้สำเร็จ
ติโต (แปล), ๒๕๓๘
ติโต ทรงแปลจาก Tito ของ Phyllis Auty เป็นชีวประวัติของติโต หรือ ยิบโซ โบรซ อดีตประธานาธิบดีของยูโกสล่เวีย ซึ่งประกอบไปด้วยคนหลายเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม แม้เขาจะเป็นคอมมิวนีสต์ แต่เขาก็ไม่ยอมจำนนต่ออิทธิพลของโซเวียต มีอุดมการณ์ว่า การต่อสู้เพื่อเอกราชต้องมาจากความเสมอภาคและเสรีภาพของคนทุกเชื้อชาติในแผ่นดิน
พระมหาชนก, ๒๕๓๙
พระมหาชนก ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นจาก มหาชนกชาดกในนิบาตชาดก ในคัมภีร์พระไตรปิฎก เป็นชาดกลำดับที่ ๒ ในทศชาติ หรือสิบพระชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ก่อนตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บารมีสำคัญที่พระโพธิสัตว์บำเพ็ญในพระชาตินี้ คือ วิริยะบารมี หมายถึง กล้าหาญ บากบั่นและมีความเพียร
เรื่องทองแดง, ๒๕๔๕
ทองแดง เป็นสารคดีเล่าเรื่องทองแดงสุนัขทรงเลี้ยง ทรงพระราชนิพนธ์เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษควบคู่กันไป มีภาพ ๔ สี ประกอบทั้งเล่ม และต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ชัย ราชวัตร นำไปวาดเป็นภาพการ์ตูนเพื่อพิมพ์ฉบับการ์ตูนเผยแพร่ด้วย
ที่มา : http://www.sac.or.th
(360)
You must be logged in to post a comment.