รันชู : Ranchu เป็นสายพันธุ์ของปลาทองสายพันธุ์หนึ่ง ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในการเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม รันชู ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์ขึ้นมา ในราวปี ค.ศ. 1700 ที่ประเทศญี่ปุ่น หลังจากการเกิดขึ้นมาของปลาทองสายพันธุ์สิงห์จีน โดยชาวญี่ปุ่นได้นำปลาทองสิงห์ญี่ปุ่นมาพัฒนาจนได้เป็นปลาทองสายพันธุ์ใหม่ที่แตกต่างไปจากปลาทองสิงห์ญี่ปุ่นที่มีอยู่ และเรียกชื่อปลาทองสายพันธุ์นี้ว่า “รันชู” หรือ “รันจู”
ปลาทองรันชูเป็นปลาทองที่มีลักษณะคล้ายกับปลาทองสิงห์ญี่ปุ่นมาก โดยเป็นปลาทองที่มีลำตัวอ้วนหนา บึกบึน ไม่มีครีบหลัง ลักษณะของปลาทองรันชูที่สวย ได้มาตรฐาน คือ ต้องมีช่วงหลังโค้งลาดลงได้สัดส่วน ไม่นูนไปข้างหน้าหรือข้างหลังจนเกินไป ความโค้งของหลังไม่ตื้นหรือลึกเกินไป ไม่จำเป็นต้องมีหลังที่โค้งเรียบ
ส่วนท้องด้านข้างควรโป่งพอง แนวลำตัวเริ่มจากจะงอยปากจนถึงปลายหางต้องอยู่ในแนวเส้นตรงไม่บิดเบี้ยวหรือโค้งงอ เกล็ดควรมีความสม่ำเสมอเรียงตัวกันเป็นระเบียบจากต้นคอจนถึงโคนหาง และเป็นเงางามแลดูสดใสแวววาว โคนหางใหญ่ บึกบึน แลดูมีพละกำลัง ส่วนหลังดูเมื่อมองจากด้านบนจะแลดูคล้ายเหรียญโคบัน
ครีบหางต้องแผ่กว้าง สมดุลกันทั้งด้านซ้ายและขวา ไม่บิดโค้งงอ มีขนาดที่เหมาะสมกับลำตัว ลักษณะของครีบหางมีสองแบบ คือ หางสามแฉก และสี่แฉก มุมยกของหางควรทำมุมไม่เกิน 45 องศา กับแผ่นหลัง ไหล่หางงุ้มมาข้างหน้าเล็กน้อย ส่วนปลายของหางไม่ควรยกสูงกว่าแนวของสันหลัง
สีของปลาทองรันชู มีสีขาว, แสด, แดง หรือแม้กระทั่งดำ เป็นสีเดียวตลอดทั้งตัว หรือจะเป็นหลายสีผสมกันก็ได้ แต่ไม่ว่าจะเป็นสีในโทนเข้มหรืออ่อน ควรมีความเงางามของเกล็ดและเรียงเป็นระเบียบสวยงาม
มีรูปทรงลำตัวที่ดี ขณะว่ายน้ำไม่เชิดหัวขึ้นหรือก้มหัวจนต่ำเกินไป มีพละกำลังในการว่ายน้ำ พริ้วสวยไม่อืดอาด มีการสะบัดสะโพกที่สวยงาม ครีบทวารหรือครีบก้น ต้องมี จะมีเดี่ยวหรือมีคู่ก็ได้ หากมีควรมีคู่กัน ส่วนครีบอื่น ๆ ไม่มีครีบหลัง มีครีบอก และครีบท้องอย่างละหนึ่งคู่ มีขนาดเท่ากัน ส่วนหัว มีช่องของดวงตาห่างและมีระยะห่างช่วงริมฝีปากจนถึงนัยน์ตาควรจะยาว กลุ้มวุ้นบนหัวทั้งสามส่วนไม่กำหนดลักษณะที่แน่นอน เพียงแต่ให้แลดูแล้วสมดุลกลมกลืนเหมาะสมกับช่วงลำตัว ส่วนของหัววุ้นบนหัว ต้องปิดทั้งแผ่นปิดเหงือก, ข้างแก้มไปจนถึงริมฝีปาก และบนส่วนหัว แต่ต้องไม่มีขนาดเหมือน ชิชิ คาชิระ
(697)