องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (UNFAO) ได้ทำการศึกษาวิจัยผลกระทบพฤติกรรมเรื่องวิกฤตขยะอาหาร ภายใต้หัวข้อ “Food Wastage Footprint : Impacts on Natural Resources” หรือมีความหมายว่า อาหารเหลือทิ้งกับผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ จากการศึกษาพบว่า อาหารที่ผลิตได้ในโลก กลายเป็นเศษอาหารเหลือทิ้งถึง 1 ใน 3 หรือประมาณ 1,300 ล้านตัน ขณะที่มีประชากรทั่วโลกต้องเผชิญความหิวโหยถึง 870 ล้านคน ประชาชนหลายพันล้านคนในประเทศยากจนยังคงอดอยาก ในขณะที่ประเทศร่ำรวยมีกินจนล้นเหลือ กินผลาญ กินทิ้งกินขว้าง
สิ่งที่น่าตกใจกว่าคือประชากรผู้หิวโหยกว่า 552 ล้านคน จาก 870 ล้านคน อาศัยอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ซึ่งหมายรวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน ที่มีอาหารไม่พอกิน เด็กส่วนใหญ่หิวโหย เจ็บป่วยและไม่สามารถไปเรียนได้ ซึ่ง 1 ใน 4 คือเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ มีร่างกายแคระแกร็นทุกปี ในบรรดาประเทศที่กำลังพัฒนาในเอเชีย มีการกินทิ้งกินขว้างประมาณ 11 กิโลกรัม/คน/ปี โดยในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วในเอเชีย มีการกินทิ้งกินขว้างสูงกว่าถึง 8 เท่า คือ 80 กิโลกรัม/คน/ปี นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังทิ้งขว้างอาหาร ด้วยนิสัยการจับจ่ายและการบริโภคที่ไม่เหมาะสม เช่น การซื้ออาหารปริมาณครั้งละมากๆ แต่ไม่มีการวางแผนบริโภคและเก็บรักษาที่ดีพอ หลายๆ ประเทศยังมีวัฒนธรรมกินให้เหลือไว้ในจานอีกด้วย ทำให้ขยะอาหารมีเพิ่มขึ้นจากการเหลือทิ้ง กินไม่หมด กินไม่ทันค่อนข้างมาก
การแก้ปัญหาจึงเป็นการร่วมมือระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค ผู้ผลิตห้างสรรพสินค้า ร้านค้าบางแห่งขายผัก ผลไม้สดสภาพไม่สมบูรณ์จากการขนส่งแต่ยังกินได้ โดยใช้ป้ายเหลืองเพื่อเป็นทางเลือกให้ลูกค้า เมื่อสินค้าสดเหล่านั้นขายไม่หมดจะใช้วิธีการรักษาสภาพ เพื่อส่งต่อไปยังมูลนิธิเพื่อทำอาหารให้ผู้ยากไร้ แบบวันต่อวัน ในขณะที่ผู้บริโภคควรวางแผนการใช้วัตถุดิบเพื่อให้เหมาะสมกับมื้ออาหารแต่ละมื้อ เพื่อลดอาหารที่ถูกทิ้งขว้างและการสูญเสียทรัพยากรทางอาหารโดยใช่เหตุ
(2582)
You must be logged in to post a comment.