ตาของกิ้งก่าคาเมเลี่ยนมีลักษณะโปนขึ้นมาทางด้านบนของหัวและแต่ละข้างเคลื่อนไหวเป็นอิสระจากกัน สามารถใช้ดวงตาเพียงข้างเดียวคำนวณระยะทางได้ถูกต้องแม่นยำ ซึ่งต่างจากสัตว์มีกระดูกสันหลังชั้นอื่นที่ต้องใช้ตาทั้งสองข้างถึงจะคำนวณระยะทางได้ แต่ทว่ากิ้งก่าคาเมเลี่ยนไม่สามารถที่จะมองเห็นภาพในตำแหน่งหลังหัวได้
กิ้งก่าคาเมเลี่ยนมีทั้งหมดด้วยกันประมาณ 140–150 ชนิด แพร่กระจายพันธุ์ในทวีปแอฟริกา บนเกาะมาดากัสการ์ (โดยเฉพาะบนเกาะมาดากัสการ์จะพบได้ประมาณครึ่งหนึ่ง) และบางพื้นที่ในอินเดีย และภาคพื้นอาหรับ รวมทั้งยุโรปตอนใต้ คือ สเปน และโปรตุเกส
กิ้งก่าคาเมเลี่ยนจัดได้ว่าเป็นกิ้งก่าที่มีความโดดเด่นมากในหลายอย่างที่แตกต่างจากกิ้งก่าในวงศ์อื่น ประการหนึ่งก็คือ การใช้ลิ้นยาวในการจับเหยื่อ คือ แมลง กินเป็นอาหาร โดยมีความยาวของลิ้นมากกว่าความยาวลำตัวถึง 2 เท่า ที่ปลายลิ้นจะมีก้อนเนื้อและมีสารเหนียวเคลือบอยู่
กิ้งก่าคาเมเลี่ยนหากินและใช้ชีวิตในเวลากลางวัน ขณะที่กลางคืนจะเป็นเวลาพักผ่อน เซลล์เม็ดสีก็จะพักการทำงานด้วย ดังนั้นในเวลากลางคืน สีต่าง ๆ ของกิ้งก่าคาเมเลี่ยนจะซีดลง บางชนิด บางตัวอาจจะซีดเป็นสีขาวทั้งตัวเลยก็มี
https://www.youtube.com/watch?v=olS7UKZ7C-c
(1506)