มองเผินๆ อาจเหมือนหนอนยักษ์กลายพันธุ์หรืองู แต่จริงๆ แล้วพวกมันเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำเหมือนกันกับกบและซาลามานเดอร์ แต่เป็นสายพันธุ์ที่ไม่เป็นที่รู้จักนัก มีชื่อว่า ซีซิลเลียน (Caecilian) ซึ่งอาศัยอยู่ใต้ดินทำให้ยากต่อการศึกษา ลักษณะเด่นของพวกมันคือ มีลำตัวเรียวยาว มีเปลือกแข็งหุ้มเป็นปล้องประกอบด้วยแร่แคลไซต์ (Calcite) มีสีที่หลากหลายตั้งแต่สีน้ำตาลเข้ม ไปจนถึงสีออกน้ำเงินหรือม่วง โดยสายพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดสามารถมีความยาวได้ถึง 1.5 เมตร มีถิ่นอาศัยอยู่ในป่าเขตร้อนชื้นทางตอนใต้และตอนกลางของทวีปอเมริกา ชายฝั่งตะวันออกและตะวันตกของแอฟริกา รวมถึงทางตอนใต้ของทวีปเอเชีย โดยกินหนอนและสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กใต้ดินเป็นอาหาร
ล่าสุด Carlos Jared และทีมของเขา ซึ่งเป็นกลุ่มนักชีววิทยาในบราซิลมีข้อมูลใหม่ๆ เกี่ยวกับพฤติกรรมการเลี้ยงดูลูก และการปรับตัวที่น่าทึ่งของสัตว์เหล่านี้มาฝากกัน ผลการศึกษาพบว่าซีซิลเลียนเพศเมียจะขดตัวเองรอบไข่ที่เกิดในช่วงปลายเดือนธันวาคมถึงต้นเดือนมกราคม ลูกของพวกมันจะมีสีชมพูอ่อน และยังคงอาศัยอยู่ในวงล้อมของลำตัวของแม่ซึ่งมีสีน้ำเงินม่วง และกินอาหารจากผิวหนังของแม่ที่ปกคลุมไปด้วยมูกและสารคัดหลั่งจากท่อพิเศษใกล้กับส่วนปลายสุดของลำตัว ซึ่งขยายขึ้นเป็นสองเท่าเพื่อวัตถุประสงค์ในการสืบพันธุ์และการขับถ่าย
Carlos Jared และทีมของเขา ได้เริ่มศึกษาสายพันธุ์ Siphonops annulatus ที่อยู่ในป่าฝนแอตแลนติก (Atlantic Rainforest) ของบราซิลมาตั้งแต่ปี ค. ศ. 1988 และพบว่าพวกมันมีลักษณะพิเศษที่น่าสนใจ คือ พวกมันวิวัฒนาการร่างกายให้มีหนวดบนศีรษะ รวมถึงการกำจัดอวัยวะที่ไม่จำเป็นอย่างแขนขา และลดความสามารถของดวงตาลง เพื่อให้เหมาะต่อการอยู่อาศัยในที่มืด และการเคลื่อนไหวในอุโมงค์ใต้ดิน จนทำให้มีลักษณะคล้ายกับหนอนอย่างที่เห็นกันนั่นเอง
ภาพ และข้อมูลจาก wired.co.uk
แปลและเรียบเรียงโดย Felis
(9313)