แมงกะพรุนอิรุคันจิ : Irukandji jellyfish เป็นแมงกะพรุนที่มีพิษร้ายแรงมากชนิดหนึ่งของโลก เป็นแมงกะพรุนที่เพิ่งค้นพบ ใหม่ในปี ค.ศ. 2007 นี้เอง โดยสถาบันไอไอเอสอี ของมหาวิทยาลัยแอริโซนาสเตต ในสหรัฐอเมริกา จัดให้เป็นการค้นพบอันดับ 8 ของ 10 สุดยอดการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลกแห่งปีนั้นเลยทีเดียว
โดยตั้งชื่อชนิดว่า kingi ตามชื่อของนายโรเบิร์ต คิง นักท่องเที่ยวชาวอเมริกันที่เสียชีวิตลง เพราะถูกเข็มพิษของแมงกะพรุนชนิดนี้ทิ่มทางตอนเหนือของรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ได้ปลุกกระแสให้คนตื่นตัวหันมาศึกษาและหาวิธีจัดการแมงกะพรุนชนิดนี้มากขึ้น
แมงกะพรุนอิรุคันจิ มีลักษณะโปร่งใสสีฟ้าอ่อน รูปร่างคล้ายลูกบาศก์หรือกล่องอันเป็นที่มาของชื่อ มีขนาดประมาณ 10-30 เซนติเมตร มีหนวดบาง ๆ งอกออกมาทั้ง 4 มุมของเมดูซ่าด้านบนจำนวนมุมละ 1 เส้น หนวดแต่ละเส้นจะประกอบด้วยเซลล์พิษจำนวนมาก มักอาศัยอยู่ตามทะเลในเขตร้อน เช่น ตามชายฝั่งของประเทศออสเตรเลียตอนเหนือ, ปาปัวนิวกินี, ฟิลิปปินส์, หมู่เกาะฮาวาย ตลอดจนถึงน่านน้ำไทย ช่วงที่พบได้มากคือ เดือนตุลาคม-เมษายน และหลังช่วงพายุฝนที่จะถูกน้ำทะเลพัดพาเข้ามาจนใกล้ฝั่ง
ด้วยเข็มพิษที่มีมากตามหนวดที่ยืดออกมา ทำให้แมงกะพรุนอิรุคันจิเป็นแมงกะพรุนชนิดที่มีพิษร้ายแรงที่สุด โดยพิษนี้จะสร้างความเจ็บปวดอย่างรุนแรงแก่ผู้ที่ได้รับ ทำให้เซลล์ผิวหนังบริเวณที่สัมผัสตายได้ โดยพิษสามารถเข้าสู่กระแสเลือดไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดง และเมื่อเข้าสู่ระบบประสาท ก็จะกดทับระบบประสาททำให้หยุดหายใจ
ยังมีผลต่อระบบหัวใจ โดยทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือหยุดเต้นเฉียบพลัน บางรายยังไม่ทันขึ้นจากน้ำ พิษเข้าสู่หัวใจทำให้หัวใจล้มเหลวเสียชีวิตทันที ถือว่าพิษของแมงกะพรุนอิรุคันจินี้ทำให้หัวใจหยุดเต้นได้เร็วที่สุดในโลก
หากได้รับพิษ ต้องรีบขึ้นจากน้ำทันที จากนั้นให้ตรวจชีพจรและการเต้นของหัวใจว่ายังเป็นปกติดีหรือไม่ ถ้าหัวใจหยุดเต้นให้รีบทำ CPR โดยทันที และอย่าพยายามถูหรือเกาบริเวณที่ถูกพิษเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เข็มพิษแตกปล่อยพิษออกมามากขึ้น
แมงกะพรุนอิรุคันจิถูกรายงานพบครั้งแรกในน่านน้ำไทย เมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ถูกเข็มพิษของแมงกะพรุนทิ่มหลายรายในปี พ.ศ. 2551 โดยที่บางรายถึงกับเสียชีวิตทันที และมีนักท่องเที่ยวรายหนึ่งที่เกาะหมาก จังหวัดตราด ยืนยันว่าลูกชายของตนถูกพิษจากแมงกะพรุนอิรุคันจิเข้าจนอาการสาหัส
(3183)