อะบูซิมเบล หรือ อนุสรณ์สถานแห่งนิวเบีย เป็นมหาวิหารอียิปต์โบราณ ตั้งอยู่บนริมฝั่งตะวันตกของทะเลสาบนัสซอร์ ทางใต้ของอียิปต์ เป็นวิหารที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งซึ่งสกัดเจาะภูเขาทั้งลูก ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 1,270 โดยฟาโรห์รามเสสที่ 2 ( Ramses II ) เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแห่งสุดท้ายของพระองค์กับพระนางเนเฟอร์ทารี พระมเหสีที่พระองค์ทรงโปรดที่สุด และยังมีจุดประสงค์เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองกับชัยชนะของอียิปต์ที่มีต่อนิวเบียที่สมรภูมิแห่งคาเดส
ประกอบด้วย 2 วิหารคือ วิหารใหญ่สร้างขึ้นสำหรับพระองค์เอง มีรูปหินแกะสลักของฟาโรห์รามเสสที่ 2 นั่งบนบัลลังก์ 4 องค์ เรียงกันข้างละ 2 องค์หันหน้าไปทางแม่น้ำ เพื่อแสดงถึงพลังและอำนาจของฟาโรห์ที่คอยดูแลปกป้องเหล่าเรือใบที่แล่นในแม่น้ำไนล์ ตรงกลางเจาะเป็นประตูทางเข้าที่เท้าแกะสลักเป็นรูปพระมารดา พระราชินีและโอรสธิดาอีก 8 องค์ และสร้างรูปพระองค์สูงถึง 20 เมตร ไว้ขู่พวกนิวเบียไม่ให้กระด้างกระเดื่อง
ส่วนวิหารเล็กสร้างเพื่ออุทิศให้มเหสีเนเฟอร์ทารี เป็นที่ทำการบวงสรวงเทพีฮาธอร์ ซึ่งเป็นเทพีแห่งดนตรีและความรัก เปรียบเสมือนความรักระหว่างทั้ง 2 พระองค์ ภายในเป็นทางเดินประกอบด้วยรูปปั้นเทพเจ้าอียิปต์ รูปสลักของฟาโรห์รามเสสที่สองในท่ายืน รูปสลักของราชินีเนเฟอร์ทารี่ ตรงตำแหน่งเท้าจะมีรูปสลักพระโอรสและพระธิดา มีอักษรเฮียโรกลิฟฟิกกำกับเล่าเรื่องราวอยู่ภายใน
ด้วยกาลเวลาที่ยาวนาน มหาวิหารแห่งนี้ได้ถูกทิ้งร้างและตกอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรม โดยรูปสลักด้านหน้าองค์ที่สองมีการถล่มลงมาในช่วงเกิดแผ่นดินไหว หลังจากนั้นมหาวิหารถูกกลืนกินโดยทรายจากทะเลทรายซาฮาร่า รูปปั้นแกะสลักขนาดยักษ์ทั้งสี่ถูกจมลึกถึงหัวเข่าในศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล และถูกหลงลืมไปนาน จนกระทั่งปี พ.ศ.2,356 โจฮัน ลุดวิก เบิร์คฮารดต์ นักประวัติศาสตร์วัฒนธรรมตะวันออกชาวสวิสเซอร์แลนด์ค้นพบส่วนบนของฟรีส (ลวดลายสลักใต้ชายคาของสิ่งก่อสร้าง) เขาได้กลับไปเล่าให้นักสำรวจชาวอิตาลีที่ชื่อ จิโอวานนี่ บาติสต้า เบลโซนี่ ฟัง ซึ่งในปี พ.ศ.2,360 เบลโซนี่ก็ได้พบทางเข้าและสมบัติมากมายที่อยู่ด้านใน
หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2,507 วิหารแห่งนี้หวิดสาบสูญไปอีกครั้ง เนื่องจากอียิปต์สร้างเขื่อนกั้นน้ำอัสวาน ทำให้น้ำในทะเลสาบนัสเซอร์สูงขึ้น คาดกันว่าคงจมวิหารแห่งนี้หายไปอย่างง่ายดาย ทางองค์การยูเนสโกจึงได้ยื่นมือเข้ามาช่วย โดยใช้เงินกว่า 40 ล้านดอลลาร์ จ้างคณะวิศวกรและคนงานออกแบบตัดวิหารออกเป็น 1,050 ส่วน แล้วยกขึ้นไปประกอบใหม่บนพื้นที่สูงจากระดับเดิมถึง 65.5 เมตร โดยสร้างภูเขาเทียมรูปโดมด้วยคอนกรีตเสริมใยเหล็กแล้วนำชิ้นส่วนวิหารเข้าไปประกอบทั้งภายในและภายนอกให้มีลักษณะเหมือนเดิมทุกประการ
(1376)
You must be logged in to post a comment.