Kitti’s hog-nosed bat ค้างคาวคุณกิตติ หรือค้างคาวหน้าหมู คือค้างคาวขนาดเล็กที่สุดในโลก เป็นค้างคาวเพียงชนิดเดียวที่อยู่ในวงศ์ Craseonycteridae และสกุล Craseonycteris อาศัยอยู่ในถ้ำหินปูนริมแม่น้ำในป่าดิบแล้งและป่าเบญจพรรณ ทางตะวันออกของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาและทางตะวันตกของประเทศไทย
ถูกค้นพบ โดย คุณกิตติ ทองลงยา ในปี พ.ศ. 2516 ณ ถ้ำวังพระในเขตอุทยานแห่งชาติไทรโยค ซึ่งหลังจากมีการตรวจสอบและทบทวนเอกสารทางด้านอนุกรมวิธานแล้ว จึงมีการประกาศเป็นชนิดใหม่ของโลก ในปี พ.ศ. 2517 พร้อมกับการยอมรับว่า เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กที่สุดในโลก จากน้ำหนักโดยก่อนหน้านั้นมีหนูผีจิ๋วเป็นคู่แข่งสำคัญ
พวกมันมีขนาดตัวเพียง 29-33 มิลลิเมตร หนักราว 2 กรัม ด้วยความตัวเล็กกระจิ๊ดริดนี้ ทำให้มีอีกชื่อว่า “bumblebee bat (ค้างคาวผึ้ง)” ลักษณะมีสีน้ำตาลปนแดง หรือสีเทา ในส่วนหลัง ส่วนท้องมีสีอ่อนกว่า มีปีกกว้างราง 160 มิลลิเมตร สีเข้ม ปลายยาวช่วยในการบิน พวกมันไม่มีหางแม้จะมีกระดูกสันหลังหางถึง 2 ชิ้น แต่มีแผ่นหนังเชื่อมระหว่างขาหลัง (uropatagium) ซึ่งคาดว่าน่าจะมีไว้เพื่อช่วยในการบิน ถึงแม้จะไม่มีหางหรือเดือยควบคุมการบินก็ตาม
พวกมันมีจมูกคล้ายหมู รูจมูกตั้งตรงแคบ หูจะมีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับหัว ดวงตาเล็ก ตลอดทั้งตัวปกคลุมด้วยขนอ่อน มีฟันตัดขนาดใหญ่และมีฟันหน้าคล้ายค้างคาวกินแมลงทั่วไป มักอยู่รวมตัวกันเป็นกลุ่มราว 100 ตัวต่อถ้ำ ออกหากินตอนค่ำๆ 30 นาทีและตอนเช้ามืดอีก 20 นาที บริเวณไม่ไกลจากที่พักอาศัย โดยกินแมลงเป็นหลัก อาทิ แตน แมลงวัน แมงมุม และแมลงอื่นๆ
ในฤดูผสมพันธุ์ระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน พวกมันจะออกลูกครั้งละ 1 ตัว ลูกๆจะเกาะอกแม่จนกว่าจะสามารถออกหาอาหารเองได้ เมื่อแม่ออกไปหากิน พวกมันจะทิ้งลูกไว้ในถ้ำ ในประเทศไทยจะพบได้ในถ้ำในเขตจังหวัดกาญจนบุรี จำนวนกว่า35 ถ้ำ ส่วนที่สหภาพเมียนมามีอยู่ 9 แห่ง โดยรูปร่างลักษณะภายนอกของพวกมันเหมือนกัน แตกต่างกันในเรื่องคลื่นเสียงนำทางเท่านั้น ซึ่งยังหาสาเหตุไม่ได้ว่า ทำไมถึงได้วิวัฒนาการแยกจากกัน
ค้างคาวคุณกิตติอยู่ในสภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ สาเหตุหลักมาจากการคุกคามของมนุษย์ และการลดลงของที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นการล่าค้างคาวโดยตรงหรือการใช้ประโยชน์จากถ้ำ เช่น การพักแรมท่องเที่ยว เก็บขี้ค้างคาว การสูบน้ำในถ้ำ ประกอบประเพณี รวมถึงการเปลี่ยนแปลงบริเวณพื้นที่รอบถ้ำเพื่อการเกษตร เนื่องจากมันจะบินเลี่ยงพื้นที่โล่งในเขตปลูกมันสำปะหลัง การรบกวนของมนุษย์เช่นนี้ทำให้พวกมันปรากฏตัวน้อยลงและกำลังลดจำนวนลงไปเรื่อยๆ
(834)
You must be logged in to post a comment.