หอยเต้าปูน เป็นสัตว์นักล่าจัดอยู่ในประเภทสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง พบได้ตามแถบแนวปะการัง มักจะล่าหนอนทะเล ปลาเล็ก ๆ หอย หรือแม้กระทั่งหอยเต้าปูนด้วยกันเองเป็นอาหาร เป็นสัตว์ที่มีลำตัวอ่อนนุ่ม มีเปลือกห่อหุ้มอยู่ภายนอกร่างกาย เพื่อป้องกันอันตรายจากสัตว์อื่น เปลือกมีสีสันสดใส มีลวดลายสวยงาม ดึงดูดสายตา แต่บางสายพันธุ์สีจะซ่อนอยู่ภายใต้เนื้อเยื่อพิเศษ มีมากกว่า 500 สปีชี่ส์
เนื่องจากเป็นสัตว์เคลื่อนที่ช้าจึงได้มีการพัฒนาอาวุธคู่ใจขึ้นมา นั่นคือ เข็มพิษ สำหรับการล่าเหยื่อทำให้เหยื่อหมดสติก่อนจะกลายเป็นอาหารหรือใช้ป้องกันตัว โดยเฉพาะหอยเต้าปูนสายพันธุ์ Conus geographus ที่รู้จักกันชื่อ หอยบุหรี่ มีเข็มพิษที่ร้ายแรงมาก ถึงกับมีคำกล่าวว่า หากใครถูกเข็มพิษของชนิดนี้เข้า จะมีชีวิตอยู่ได้เพียงช่วงเวลาของบุหรี่ 1 มวน ในสายพันธุ์ของเขตร้อนที่มีขนาดใหญ่ เข็มพิษจะสามารถเจาะทะลุถุงมือหรือชุดว่ายน้ำได้ พิษของมันจะทำให้ ปวด บวม ชา ในกรณีที่ร้ายแรง ทำให้กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต สายตาพร่ามัว ระบบหายใจล้มเหลว ซึ่งทำให้มันมีความรุนแรงมากพอที่จะฆ่ามนุษย์ได้ ปัจจุบันยังไม่มียาชนิดใดจะช่วยเยียวยาหรือรักษาพิษของหอยเต้าปูนได้
พิษของหอยเต้าปูนเป็นที่สนใจของนักวิทยาศาสตร์อย่างมาก เนื่องจากมีความซับซ้อนในโครงสร้างของพิษ อีกทั้งยังออกฤทธิหลากหลาย โดยพิษตัวนี้มีชื่อว่า โคโนทอกซิน (conotoxins) เป็นหนึ่งในพิษที่ร้ายแรงที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบที่ออกฤทธิต่อระบบประสาท ในหอยเต้าปูนแต่ละตัวสามารถสร้างพิษที่แตกต่างกันได้กว่า 100 ชนิด ซึ่งในพิษนี้จะมีสายโปรตีน (peptide) ที่สามารถยับยั้งสารสื่อประสาทที่สำคัญหลายตัวของสิ่งมีชีวิตได้ สามารถทำให้เหยื่อเป็นอัมพาตชนิดเฉียบพลัน ได้ภายใน 1/200 วินาที ความเร็วในการจู่โจมอยู่ที่ 1/4 วินาที ซึ่งยากต่อการป้องกัน การพัฒนานี้เองที่ทำให้หอยเต้าปูนได้เปรียบสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น
ต่อมานักวิทยาศาสตร์ได้มีการนำพิษมาสกัดเอาสายโปรตีนบางตัวออกมา เพื่อทำการวิจัยพัฒนาเป็นยาต่อต้านอาการเจ็บปวด ซึ่งจะไปหยุดยั้งเฉพาะความเจ็บปวดบางอาการเท่านั้น โดยไม่ทำลายความรู้สึกทั้งหมด ในปัจจุบันสิ่งที่ใช้ระงับอาการเจ็บปวดคือ มอร์ฟีน แต่จากการทดลองพบว่า ยาที่สกัดจากพิษหอยเต้าปูน มีประสิทธิภาพมากกว่ามอร์ฟีนถึง 1000 เท่า อีกทั้งยังสามารถใช้ได้ในอาการเจ็บปวดบางกรณีที่มอร์ฟีนไม่สามารถระงับได้อีกด้วย
(8765)
You must be logged in to post a comment.