อิคิดนา หรือ ตัวกินมดหนาม เป็นสัตว์ประจำถิ่นออสเตรเลีย ซึ่งกระจายพันธุ์อยู่ในนิวกินีและออสเตรเลีย เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอันดับโมโนทรีมาตา (Monotremata) ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ จึงจัดได้ว่าเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม หนึ่งในสองชนิดที่ออกลูกเป็นไข่
อีคิดนามีรูปร่างคล้ายเม่นตัวเล็ก มีขนหยาบและขนหนามปกคลุมตลอดตัว เมื่อโตเต็มวัยยาวประมาณ 30 เซนติเมตร มีจมูกเรียวยาว ปากเล็ก ไม่มีฟัน ขาสั้นแข็งแรง อุ้งเล็บใหญ่ทำให้ขุดดินได้ดี พวกมันจะหาอาหารโดยการฉีกท่อนไม้ผุๆ บางครั้งก็ขุดจอมปลวก และใช้ลิ้นเหนียวๆกวาดปลวก มด และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็กชนิดอื่นๆ เข้าปาก จากนั้นก็บดเหยื่อเข้ากับเพดานปากก่อนจะกลืน
อีคิดนาตาไว จมูกไว มีนิสัยขี้อายและขี้กลัว มักอยู่อย่างสันโดษ หากินตามลำพัง ยกเว้นช่วงเวลาผสมพันธุ์ในช่วงกลางฤดูหนาว หรือประมาณเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม เนื่องจากมีขาที่สั้นทำให้เดินพวกมันเดินช้าและดูงุ่มง่าม แต่กลับว่ายน้ำเก่งจนน่าแปลกใจ ที่ข้อเท้าจะมีเดือยคล้ายตุ่นปากเป็ด เมื่อเผชิญหน้ากับผู้บุกรุก พวกมันมักจะหลบหนีมากกว่าสู้ โดยแอบซ่อนตามพุ่มไม้ โพรงขอนไม้ ซอกหินหรือมุดลงดิน และหากไม่มีทางเลือกอื่นมันก็จะม้วนตัวกลมเพื่อให้หนามยื่นออกไปรอบตัว
ศัตรูทางธรรมชาติของอีคิดนาคือ สุนัข หมาป่าดิงโก แมว หมู และสัตว์เลื้อนคลานบางชนิด โดยพวกมันต้องผ่านประสบการณ์กับอีคิดนามาก่อน จึงจะสามารถรู้ว่าอีคิดนาวัยผู้ใหญ่ม้วนตัวจะมีจุดอ่อนที่ท้อง เพราะไม่สามารถม้วนจนกลมได้เท่าวัยอ่อน
อีคิดนาวางไข่ครั้งละหนึ่งฟอง แล้วใส่ไว้ในถุงหน้าท้องคล้ายของจิงโจ้ ซึ่งร่างกายสร้างขึ้นมาในระยะผสมพันธุ์ ฟักไข่ราวสิบวัน ลูกอ่อน หรือ พักเกิ้ล (puggle) จะมีขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร อาศัยอยู่ในถุงหน้าท้อง 45-55 วัน หลังจากนั้นเมื่อมีหลานขึ้น แม่จะขุดโพรงอนุบาลไว้ให้ลูกและกลับมาให้นมทุก 5 วัน พวกมันจะหย่านมเมื่ออายุ 7 เดือน
อีคิดนาเป็นสัตว์ที่มีอายุยืนและปรับตัวเก่ง ในเขตภูเขาช่วงหน้าหนาวพวกมันจะจำศีล ในเขตทะเลทรายช่วงกลางวัน พวกมันจะเข้าไปหลบร้อนอยู่ในอุโมงค์หรือหลืบหินและออกหากินเฉพาะตอนกลางคืน ส่วนในเขตอากาศอบอุ่นจะออกมาตอนพลบค่ำ แต่หากอากาศหนาวขึ้นมันก็จะออกมาหากินได้ทั้งวัน
ลักษณะและพฤติกรรมของพวกมันจะแตกต่างไปตามถิ่นที่อยู่ การแยกกันอยู่แบบสันโดษนี้ก็ทำให้มันถูกล่าได้ง่าย ถิ่นที่อยู่อาศัยได้น้อยลง รวมถึงในประเทศนิวกินีมีการล่ามันเป็นอาหารด้วย ทำให้พวกมันสุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่ง
(1337)
You must be logged in to post a comment.