ฉลามขาว จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีแกนสันหลัง มีขนาดตัวค่อนข้างใหญ่ พบได้ตามทะเลชายฝั่งเกือบทุกมุมโลก ที่มีอุณหภูมิระหว่าง 12 C – 24 C เช่น อ่าวออสเตรเลีย ตอนใต้ทวีปแอฟริกา แคลิฟอเนีย ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ฯ ปัจจุบันพวกมันคือ สัตว์กินเนื้อและปลากินเนื้อที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยเป็นสิ่งมีชีวิตสปีชี่ส์เดียวในสกุล Carcharodon ที่ยังคงสืบทอดเผ่าพันธุ์อยู่ ซึ่งถือกำเนิดมายาวนานกว่า 16 ล้านปี
ฉลามขาวมีความสามารถคล้ายกับฉลามสายพันธุ์อื่นๆ โดยมีอวัยวะรับสัมผัสพิเศษซึ่งสามารถตรวจจับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่แผ่ออกมาจากสิ่งมีชีวิตได้ โดยเมื่อสิ่งมีชีวิตเคลื่อนไหวใต้น้ำจะสร้างสนามแม่เหล็กออกมาการที่ฉลามขาวมีสัมผัสไวเป็นพิเศษนี้ ทำให้พวกมันตรวจจับได้แม้มีแรงเพียง 1/1000,000,000 โวลท์เทียบได้กับการตรวจจับแสงแฟลชได้ในระยะ 1600 กิโลเมตร
ฉลามขาวถือได้ว่าเป็นฉลามที่มีเลือดอุ่นหนึ่งในหกชนิดที่เป็นที่รู้จัก พวกมันมีระบบการเผาผลาญที่แตกต่างจากฉลามทั่วไป ซึ่งมีการสูญเสียความร้อนจากเหงือกและผิวหนัง โดยฉลามขาวมีการวางตัวของเส้นเลือดแดงและเส้นเลือดดำที่มีลักษณะเฉพาะช่วยในการถ่ายเทความร้อน มีกล้ามเนื้อแดงที่อุ่นอยู่บริเวณกลางลำตัว จึงเป็นตัวช่วยลดการสูญเสียความร้อนผ่านผิวหนังลง ทำให้มีอุณหภูมิร่างกายคงที่อยู่ที่ 26 องศาเซลเซียส จึงเป็นที่มาว่าทำไมพวกมันสามารถล่าเหยื่อในที่ลึกๆหรือมีอุณหภูมิต่ำอย่างในเขตอาร์กติกได้
เมื่อฉลามขาวโตเต็มวัยจะมีขนาดประมาณ 4-4.8 เมตร หนักประมาณ 880-1100 กิโลกรัม ตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ ซึ่งขนาดดังกล่าวยังไม่ได้รับการยืนยันแน่ชัด ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่จึงลงความเห็นว่า ฉลามขาวน่าจะมีความยาวราว 6 เมตร น้ำหนักประมาณ 1900 กิโลกรัม เนื่องจากมีการจดบันทึกว่า พบฉลามขาวขนาด 11 เมตรในทะเลตอนใต้ออสเตรเลีย และ 11.3 เมตร ที่เมือง New Brunswick ประเทศแคนาดา ภายหลัง เจ.อี. โรนัลด์ (J.E. Reynolds) ได้ศึกษากระดูกฟันกรามที่เก็บรักษาไว้ พบว่าพวกมันน่าจะมีขนาด แค่ 5 เมตร สันนิษฐานกันว่า เป็นการจดบันทึกขนาดที่ผิดพลาดในบันทึกของต้นฉบับ
พวกมันจะเลือกเหยื่อที่ให้พลังงานสูง เช่น ปลากระเบน ฉลามที่ตัวเล็กกว่า โลมา แมวน้ำ สิงโตทะเล เต่าทะเล และเต่าตะหนุ โดยจะใช้สัมผัสพิเศษในการหาตำแหน่งเหยื่อจากระยะไกล หลังจากนั้นใช้สัมผัสในด้านการดมกลิ่น และการฟังเพื่อยืนยันตำแหน่งอีกที จมูกของฉลามขาวมีความไวต่อกลิ่นเลือดเป็นอย่างมาก พวกมันสามารถได้กลิ่นเลือดเพียง1หยดที่อยู่ไกลออกไปถึง 3 กิโลเมตร แต่ถ้าเหยื่ออยู่ในระยะประชิดพวกมันจะใช้สายตาเป็นหลัก
ฉลามขึ้นชื่อว่าเป็นนักล่าที่โหดร้าย เป็นเครื่องจักรสังหาร และมีเทคนิคในการซุ่มโจมตีที่แตกต่างไปตามชนิดของเหยื่อ เช่น เมื่อล่าแมวน้ำจะจู่โจมโดยการงับกลางลำตัวหรืองับลากลงน้ำและรอจนกว่าหมดแรง หากเป็นสิงโตทะเลจะใช้การงับลงมากินหรืองับส่วนสำคัญแล้วรอให้เลือดไหลจนตาย ส่วนโลมาจะใช้การจู่โจมด้านบนหรือล่างเพื่อหลบโซนาร์ของโลมา
รูปแบบทางสังคมของฉลามยังไม่เป็นที่แน่ชัดนัก แต่พวกมันมีสังคมซับซ้อนมากกว่าที่ใครคาดคิด โดยตัวเมียมีอำนาจมากกว่า และ ตัวผู้ที่ตัวใหญ่มีอำนาจมากกว่าตัวเล็ก เจ้าถิ่นมีอำนาจมากกว่าผู้มาเยือน เมื่อมีการล่าจะสั่งการกันอย่างเป็นระบบ และเมื่อเกิดความขัดแย้งก็จะมีวิธีการเพื่อหาทางออกแทนที่จะสู้กันจนตาย
ในภาพยนตร์จะเห็นว่า ฉลามขาวได้เข้าจู่โจมมนุษย์ แต่แท้จริงแล้วมนุษย์ไม่ใช่เหยื่อตามธรรมชาติของฉลาม จากรายงานพบว่าฉลามโจมตีมนุษย์เพียง 31 รายในรอบ 200 ปี และมีส่วนน้อยที่เสียชีวิต ซึ่งในกรณีที่เสียชีวิตจะเป็นกรณีที่ฉลามลองกัดดูด้วยความอยากรู้อยากเห็นมากกว่า โดยฉลามขาวยังลองกัดพวกสิ่งของที่มันไม่คุ้นเคยอื่นๆ เช่น ทุ่นลอยน้ำ ด้วย
ในบางครั้งพวกมันจะใช้ปากงับโดนนักเล่นเซิร์ฟ เพราะอยากรู้ว่ามันเป็นอะไรกันแน่ หรืออีกกรณีที่เกิดขึ้นได้คือ เกิดความเข้าใจผิดว่า เงาของนักเล่นเซิร์ฟคือแมวน้ำ อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์มีทฤษฎีที่ว่า ทำไมอัตราการจู่โจมมนุษย์แบบร้ายแรงถึงต่ำ นั่นไม่ใช่เพราะว่ารสชาติมนุษย์ไม่ถูกปาก แต่เพราะรูปแบบการจู่โจมของฉลามขาวคือ การโจมตีให้เหยื่อสาหัสจนตายก่อนจะกินเข้าไป มนุษย์ที่สามารถหนีขึ้นบกขึ้นเรือได้ จึงกลายเป็นพฤติกรรมที่ไม่คุ้นเคย ทำให้การจู่โจมล้มเหลวไป
นอกเหนือจากนี้ ฉลามขาวยังเป็นปลาที่ไม่สามารถอยู่ในสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำได้ เพราะพวกมันมีพฤติกรรมการว่ายหาอาหารในระยะไกล และมักว่ายไปเรื่อยๆ เมื่อถูกพามาอยู่ในสวนสัตว์หรือสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ ไม่กี่วันต่อมาพวกมันจะตาย เพราะไม่สามารถปรับตัวกับน้ำได้ ฉลามขาวที่อยู่ได้นานที่สุดถูกจัดแสดงได้ราว 6 เดือน ก่อนจะถูกปล่อยไปอยู่ในธรรมชาติ เนื่องจากมันเขมือบเพื่อนฉลามต่างสายพันธุ์ที่อยู่ร่วมตู้ไป 2 ตัว
อย่างไรก็ตามธุรกิจเกี่ยวกับฉลามขาว มีทั้งการขายซาก ขายฟัน แต่เม็ดเงินยังไม่สะพัดเท่าธุรกิจ “การดำน้ำในกรง” ซึ่งรองรับผู้ชื่นชอบความแปลกใหม่ ท้าทาย โดยพวกเขาจะพาลงไปในถิ่นล่าเหยื่อของฉลามขาว และทำการล่อเหยื่อในระยะไกล เพื่อให้มันโฉบว่ายเล่นให้ดูเท่านั้น การทำเช่นนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ฉลามติดนิสัยว่า การล่อเหยื่อเช่นนี้คือการให้อาหารนั่นเอง
(1913)
You must be logged in to post a comment.