ปลาตีน แปลว่า นักกระโดดเลน คงเนื่องมาจากปลาตีนชอบกระโดดไปบนเลนหรือบนผิวน้ำ กระจายพันธุ์อยู่ทั่วไปตามชายทะเลโคลนและป่าชายเลนในเขตร้อนตั้งแต่เขตมหาสมุทรแอตแลนติก ชายฝั่งแอฟริกาจนถึงเอเชียแปซิฟิก ในประเทศไทยมีกระจายเป็นตอน ๆ ริมฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยตั้งแต่จังหวัดชลบุรี, จังหวัดตราด เรื่อยลงไปถึงจังหวัดปัตตานี ส่วนทางฝั่งทะเลอันดามันพบตั้งแต่จังหวัดระนองลงไปสุด ชายแดนไทยที่จังหวัดสตูล โดยมีชื่อเรียกต่างกันออกไป เช่น จุมพรวด, ตุมพรวด, กำพุด, กระจัง หรือ ไอ้จัง ฯ โดยปลาตีนมักถูกจับมาขายเป็นปลาสวยงามอยู่เสมอ ๆ โดยมักหลอกขายว่าเป็นปลาน้ำจืดหรือปลาจากต่างประเทศ โดยผู้ค้ามักตั้งชื่อให้แปลกออกไป เช่น คุณเท้า, เกราะเพชร หรือ โฟร์อายส์ เป็นต้น
ปลาตีนจะมีหัวโตประดับดวงตาหนึ่งคู่ ซึ่งกรอกไปมาได้ทำให้มองเห็นได้ดีตอนพ้นน้ำ เคลื่อนที่บนบกได้โดยใช้ครีบอกที่แข็งแรงไถลตัวไปตามพื้นเลน ครีบยังสามารถใช้ยึดเกาะต้นโกงกางหรือต้นแสน มีขนาดตัวยาว 5- 30 ซ.ม.แตกต่างกันไปตามชนิดพันธุ์ ปลาตีนตัวผู้มีขนาดลำตัวใหญ่กว่าตัวเมีย ข้างลำตัวแบนเล็กน้อย มีเกล็ดปกคลุมทั่วลำตัว สีเทามีแถบสีน้ำตาลพาดบริเวณหัว และตามตัวมีจุดวาวๆสีเขียวมรกต ปลายครีบหลัง สีขาวเหลือง สะท้อนแสง ทำให้มองเห็นเป็นทั้งสีน้ำตาล สีน้ำเงิน และวาวเหมือนมุก ชอบอาศัยอยู่บนผิวเลนมากกว่าใต้น้ำโดยปลาตีนจะหายใจผ่านมีอวัยวะพิเศษข้างเหงือกซึ่งสามารถเก็บความชุ่มชื้นจากน้ำได้และจะสูดอากาศบนบกเข้าปาก เพื่อนำออกซิเจนเข้าไปผสมกับน้ำเพื่อหายใจผ่านเหงือกเหมือนปลาทั่วไป ดังนั้นปลาตีนจึงต้องทำตัวให้คงความชื้นอยู่ตลอด มักหากินในเวลาน้ำลด อาหารที่กินคือสิ่งมีชีวิตเล็กๆ เช่น ลูกกุ้ง ลูกปู ตัวอ่อนของสัตว์น้ำขนาดเล็ก รวมทั้งสาหร่าย แบคทีเรีย และซากสิ่งมีชีวิตที่อยู่บนผิวเลน โดยใช้ปากดูดกินอาหารในพื้นเลน ทำให้แลดูผิวเผินเหมือนสัตว์เลื้อยคลานหรือสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำมากกว่าปลา
ปกติอาศัยอยู่รวมกันหลายตัวไม่มีออกนอกเขตของตัวเอง เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ ปลาตีนตัวผู้จะมีสีเข้มขึ้นและมีอาณาเขตของตนเอง มักจะกระโดดสูงอวดตัวเมียบางทีกระโดดได้สูงถึง 20 เซ็นติเมตร วิธีกระโดดสูงบิดม้วนตัวไปข้างๆแล้วยืดตัวออกฉับพลัน ทำให้ตัวถูกดีดขึ้นสูง ถ้ามีตัวเมียสนใจการแสดง ตัวผู้จะพาไปที่โพรงในเลนที่ขุดเตรียมเอาไว้เรียกว่า หลุมปลาตีน เมื่อไข่ฟักจะมีหน้าตาเหมือนพ่อแม่โดยสมบูรณ์ ปลาตีนตัวผู้จะปกป้องรักษาโพรงอย่างเข้มงวดและมีพฤติกรรมหวงเขตแดนเมื่อมีปลาตีนหรือสัตว์อื่นรุกล้ำ โดยจะแสดงการกางครีบหลังขู่ และเคลื่อนที่เข้าหาผู้รุกล้ำทันที อาจต่อสู้ถึงขั้นรุนแรงกัดติดไม่ปล่อย ศัตรูทางธรรมชาติส่วนใหญ่มักจะเป็นปู งูน้ำซึ่งบุกรุกถึงโพรงในเลน และนกกระยางที่โฉบจิกกินปลาตีนบนชายเลน
(565)
You must be logged in to post a comment.