กระเทียม

กระเทียม เป็นพืชสมุนไพรไทยและเป็นเครื่องเทศชนิดหนึ่ง โดยมักใส่ในอาหารหลายชนิด ทั้งอาหารไทย อาหารอินเดีย กระเทียมมีชื่อสามัญอื่นอีกคือ กระเทียมขาว (อุดรธานี) กระเทียมจีน (กทม.,กลาง) เทียม (ใต้) ปะเซ้วา (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน) หอมขาว (อุดรธานี) หอมเทียม (เหนือ) หัวเทียม (ใต้)

 

กระเทียมเป็นไม้ล้มลุก สูง 30-60 ซม. มีกลิ่นแรง มีหัวใต้ดินแบบ Tunic bulb ลักษณะกลมแป้น เส้นผ่านศูนย์กลาง 2-4 ซม. มีแผ่นเยื่อสีขาวหรือสีม่วงอมชมพูหุ้มอยู่ 3-4 ชั้น ซึ่งลอกออกได้ แต่ละหัวมี 6-10 กลีบ กลีบเกิดจากตาซอกใบของใบอ่อน ลำต้นลดรูปลงไปมาก ใบเดี่ยว (Simple leaf) ขึ้นมาจากดิน เรียงซ้อนสลับ แบนเป็นแถบแคบ กว้าง 0.5-2.5 ซม. ยาว 30-60 ซม. ปลายแหลมแบบ Acute ขอบเรียบและพับทบเป็นสันตลอดความยาวของใบ โคนแผ่เป็นแผ่นและเชื่อมติดกันเป็นวงหุ้มรอบใบที่อ่อนกว่าและก้านช่อดอกทำให้เกิดเป็นลำต้นเทียม

 

ปลายใบสีเขียวและสีจะค่อยๆ จางลงจนกระทั่งถึงโคนใบ ส่วนที่หุ้มหัวอยู่มีสีขาวหรือขาวอมเขียว ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม (Umbel) ประกอบด้วยตะเกียงรูปไข่เล็กๆ จำนวนมากอยู่ปะปนกับดอกขนาดเล็กซึ่งมีจำนวนน้อย มีใบประดับใหญ่ 1 ใบ ยาว 7.5-10 ซม. ลักษณะบาง ใส แห้ง เป็นจะงอยแหลมหุ้มช่อดอกขณะที่ยังตูมอยู่ แต่เมื่อช่อดอกบานใบประดับจะเปิดอ้าออกและห้อยลงรองรับช่อดอกไว้ ก้านช่อดอกเป็นก้านโดด เรียบ รูปทรงกระบอกตัน ยาว 40-60 ซม. ดอกสมบูรณ์เพศ กลีบรวม 6 กลีบ แยกจากกันหรือติดกันที่โคน รูปใบหอกปลายแหลม ยาวประมาณ 4 มม. สีขาวหรือขาวอมชมพู เกสรเพศผู้ 6 อัน ติดที่โคนกลีบรวม อับเรณูและก้านเกสรเพศเมียยื่นขึ้นมาสูงกว่าส่วนอื่นๆ ของดอก รังไข่ 3 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 1-2 เม็ด ผลเล็กเป็นกระเปาะสั้นๆ รูปไข่หรือค่อนข้างกลม มี 3 พู เมล็ดเล็ก สีดำ

 

ในประเทศไทยปลูกมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ แต่กระเทียมที่มีชื่อเสียงว่าเป็นกระเทียมคุณภาพดี กลิ่นฉุน ได้แก่กระเทียมจากจังหวัดศรีสะเกษ

 

สรรพคุณทางยา สามารถ รักษาโรคบิด  ป้องกันมะเร็ง   ระงับกลิ่นปาก   ลดระดับไขมัน คอลเลสเตอรอล และน้ำตาลในเลือด  ขับพิษ และ สารอันตรายที่ปนเปื้อนในเม็ดเลือด  มีกลิ่นที่ฉุนจึงสามารถไล่ยุงได้ดี  ขับลม

 

การผลิตกระเทียมนั้นส่วนใหญ่มาจากประเทศจีน โดยจีนเป็นผู้ผลิตกระเทียมรายใหญ่ที่สุดในโลก ประมาณ 10,500,000 ตัน กว่า 77 % ของโลก รองลงมาคืออินเดีย คิดเป็น 4.2 %

 

(151)