การนอนหลับเป็นสถานะที่เกิดซ้ำตามธรรมชาติ โดยแสดงลักษณะที่มีสติสัมปชัญญะลดลงหรือไม่มีเลย กิจกรรมรับความรู้สึกที่ค่อนข้างถูกงด และการขาดกิจกรรมของกล้ามเนื้อที่อยู่ภายใต้อำนาจจิตใจแทบทั้งหมดการนอนหลับต่างจากความตื่นตัวเงียบตรงที่มีความสามารถสนองต่อสิ่งเร้าลดลง และสามารถผันกลับได้ง่ายกว่าอยู่ในสถานะจำศีลหรือโคมามาก
การนอนหลับเป็นสถานะที่มีแอแนบอลิซึมเพิ่มขึ้น โดยเน้นการเจริญเติบโตและการฟื้นฟูระบบภูมิคุ้มกัน ประสาท กระดูกและกล้ามเนื้อ การนอนหลับพบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด นกทุกชนิด และสัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และปลาหลายชนิด
ความมุ่งหมายและกลไกของการนอนหลับยังไม่ชัดเจนทั้งหมด และยังเป็นหัวข้อของการวิจัยอย่างจริงจัง มักคิดกันว่า การนอนหลับช่วยรักษาพลังงานแต่แท้จริงกลับลดเมแทบอลิซึมเพียง 5-10% สัตว์ที่จำศีลต้องการนอนหลับ แม้ว่าภาวะเมแทบอลิซึมต่ำจะพบได้ในการจำศีล และต้องเปลี่ยนกลับจากภาวะตัวเย็นเกินมาเป็นอุณหภูมิปกติของร่างกายก่อนจึงจะหลับได้ ทำให้การหลับ “มีราคาทางพลังงานสูง”
แต่ละช่วงอายุต้องการการนอนหลับต่อวันไม่เท่ากัน เด็กต้องการนอนหลับมากกว่าเพื่อให้ร่างกายพัฒนาและทำหน้าที่ได้อย่างเหมาะสม ทารกเกิดใหม่ต้องการนอนหลับถึง 18 ชั่วโมง และมีอัตราลดลงในวัยเด็ก
อายุหรือสภาวะ ความต้องการการนอนหลับ
ทารกเกิดใหม่ (0-2 เดือน) 12-18 ชั่วโมง
ทารก (3–11 เดือน) 14-15 ชั่วโมง
เด็กวัยหัดเดิน (1–3 ขวบ) 12-14 ชั่วโมง
เด็กก่อนวัยเรียน (3–5 ขวบ) 11-13 ชั่วโมง
เด็กวัยเรียน (5–10 ปี) 10-11 ชั่วโมง
วัยรุ่น (10-17 ปี) 8.5-9.25 ชั่วโมง
ผู้ใหญ่และวัยสูงอายุ 7-9 ชั่วโมง
สตรีมีครรภ์ 8 ชั่วโมงขึ้นไป
การอดนอนหรือนอนไม่เพียงพอ ที่เรียกว่า “หนี้การนอนหลับ” (sleep debt) นั้น จะทำให้เกิดความอ่อนล้าทั้งทางร่างกาย จิตใจและอารมณ์ต่าง ๆ ทั้งยัง ทำให้ความสามารถในขบวนการคิดระดับสูงลดลง
ความผิดปกติของการหลับมีหลายอย่าง เช่น การนอนไม่หลับ (insomnia), ภาวะหยุดหายขณะหลับ (obstructive sleep apnea) ที่เกิดจากกล้ามเนื้อรอบทางเดินหายใจของผู้ป่วยหย่อนขณะหลับ ทำให้ทางเดินหายใจล้มเหลวและขวางการรับออกซิเจน และผู้ป่วยต้องตื่นขึ้นมาจากภาวะหลับลึกเพื่อหายใจ และภาวะง่วงเกิน (narcolepsy) ที่ผู้ป่วยจะนอนหลับอย่างควบคุมไม่ได้ เป็นต้น
(1719)