ทุกๆ ปี ความมหัศจรรย์ของการดำรงชีวิตจะเกิดขึ้นในยามค่ำคืนของวันที่ 7 และ 11 หลังจากคืนพระจันทร์เต็มดวงเดือนสิงหาคมภายใต้ท้องทะเลที่สงบนิ่งและมีความอบอุ่นที่สุดของปีห่างจากชายฝั่งรัฐเท็กซัสประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นระยะทาง200กิโลเมตร ดร. ซิลเวีย เอิร์ล (Sylvia Earle) นักสำรวจของสมาคม เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิคคือผู้ที่จะพาเราดำดิ่งลงสู่สวนสวรรค์ภายใต้ท้องทะเลที่มีชื่อว่า “Flower garden banks”
ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสถานอนุรักษ์ชีวิตแห่งท้องทะเล เพื่อร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีอันแสนสำคัญของเหล่าปะการังณ ที่แห่งนี้ เต็มไปด้วยวิมานปะการังที่จะดำเนินกระบวนการสืบพันธุ์ ซึ่งจะเป็นไปเพียงแค่ปีละหนึ่งครั้งเท่านั้น โดยจะต้องอาศัยจังหวะที่เกิดจากดวงจันทร์ – น้ำขึ้นน้ำลง – และอุณหภูมิ ซึงเป็นตัวแปรที่สำคัญที่เหล่าปะการังต่างรอคอยจังหวะที่เหมาะสม
เหล่าปะการังต่างต้องมีการเตรียมการด้วยการกิน “แพลงตอน (Plankton)” เข้าไปสะสมไว้เป็นจำนวนมากและเป็นระยะเวลานานพอสมควร เพราะพลังงานจำนวนมหาศาลจะถูกใช้ไปกับการสืบพันธุ์นี้ ในความเป็นจริงแล้วปะการังเป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง ซึ่งครั้งหนึ่งเหล่านักวิทยาศาสตร์เคยเข้าใจว่าปะการังเป็นพืช แม้ว่ารูปลักษณ์ภายนอกของปะการังจะดูเหมือนหิน แต่แนวปะการังคือแหล่งรวมของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กจิ๋วที่เรียกว่า “โพลิป” (Polyps)อาศัยอยู่รวมกันเป็นโคโลนี่ ซึ่งเจ้าโพลิปนี้เอง คือตัวก่อให้เกิดชั้นของสิ่งมีชีวิตบางๆ บนซากหินปูนที่หลงเหลือจากปะการังรุ่นก่อนๆ
ในกระบวนพิธีการของการสืบพันธุ์ของปะการัง หลังจากที่ได้สร้างเซลล์ไข่และสเปิร์มขึ้นมาโดยใช้เวลาหลายเดือนต่อปี โพลิปจะขยายตัว และก็พร้อมจะสืบพันธุ์ ซึ่งปะการังแต่ละสายพันธุ์นั้นจะมีช่วงเวลาของตนเอง เพราะการสืบพันธุ์ที่เร็วหรือช้าเกินไป จะส่งผลให้เกิดความเสี่ยงในการสืบพันธุ์ข้ามสายพันธุ์ และทำให้เกิดทายาทที่เป็นหมันเหล่าปะการังสามารถชะลอจังหวะของการสืบพันธุ์ได้นานถึง 1 เดือน ถ้าหากว่าสภาพอากาศนั้นเลวร้ายหรือมีความหนาวเย็นจนเกินไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือกลยุทธ์ในการสืบพันธุ์ของปะการัง 7 สายพันธุ์จากจำนวนทั้งหมด 20 สายพันธุ์ที่อาศัยอยู่ใน ฟลาวเวอร์ การ์เดน แบงค์ส
ปะการังสมอง (Brain coral)นั้นจะมีความพิเศษมากกว่าปะการังสายพันธุ์อื่นๆ เพราะพวกมันมีสองเพศในตัวเดียวกันซึ่งนั่นก็แสดงว่า มันจะปล่อมทั้งสเปิร์ม และไข่ออกมา ในขณะที่สายพันธุ์อื่นๆ นั้น อาทิเช่น ปะการังดาว 10 แฉกจะส่งแค่สเปิร์มหรือไข่ออกมาอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งสองอย่างเฉกเช่น ปะการังสมอง
เหล่านักสำรวจดำน้ำติดตามค้นหาเส้นใยของไข่และสเปิร์มที่ล่องลอยไปตามผืนทะเล ด้วยความหวังที่จะติดตามเส้นทางไปสู่แหล่งผลิตไข่และสเปิร์มเหล่านั้นแล้วพวกเขาก็ได้เห็นในสิ่งมหัศจรรย์ที่จะมีโอกาสได้เห็นเพียงปีละหนึ่งครั้งเท่านั้น ปะการังดาวแดงเริ่มดำเนินการ เมื่อเพศผู้เริ่มพ่นม่านหมอกสเปิร์มออกมา หลังจากนั้นเพศเมียที่มีไข่เหมือนฟองแชมเปญก็พ่นไข่ออกมา แล้วสองสิ่งนี้ก็จะลอยขึ้นไปสู่ผิวน้ำ ถ้าหากว่าทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดีพวกมันก็จะผสมผสานกันเข้าที่ไหนสักแห่งในท้องทะเลนี้ ซึ่งต้องอาศัยจังหวะที่น้ำทะเลสงบนิ่ง ที่จะช่วยให้ไข่และสเปิร์มลอยไปด้วยกัน และความอบอุ่นของน้ำทะเลก็จะช่วยยืดอายุของพวกมันให้ยาวนานพอที่จะได้ผสมพันธุ์และด้วยความพิศวงของธรรมชาติที่เต็มไปด้วยความลับอีกมากมายที่มนุษย์เรานั้นยังไม่เคยได้เข้าใจ ก็อาจจะส่งผลให้ปลาฟองน้ำ หนอน และสัตว์ปะการังอื่นๆ นั้น มีการตอบสนองต่ออุณหภูมิและจังหวะของดวงจันทร์เช่นเดียวกันปะการัง ดำเนินพิธีการของการสืบพันธุ์ในช่วงเวลาเดียวกัน เช่น “หนอนทะเลต้นคริสต์มาส (X’ mas Tree Worm)” ซึ่งเป็นหนอนปล่องที่มีระยางค์เหมือนกับกิ่งไม้ เพื่อใช้หายใจและดักจับอาหารที่ผ่านไปมาในกระแสน้ำหนอนชนิดนี้จะอาศัยอยู่เคียงข้างและภายในปะการัง
ในโลกของสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ ท่ามกลางวิกฤตการณ์ที่ห้อมล้อมพวกมัน สถานอนุรักษ์ชีวิตสัตว์ทางทะเล ฟลาวเวอร์ การ์เดน แบงค์ส ยังคงเป็นสถานที่ที่ชีวิตเบ่งบาน และเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า เช่นที่ผ่านมานับล้านปี
(95)