ดาวซิริอุส : Sirius มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งในภาษาไทยว่า ดาวโจร เป็นดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดในตอนกลางคืนและสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มีค่าระดับความสว่างอยู่ที่ -1.47 ซึ่งสว่างเกือบเป็นสองเท่าของดาวคาโนปัส
ดาวฤกษ์ที่สว่างเป็นอันดับสอง ชื่อ ซิริอุส มาจากภาษากรีกโบราณว่า Σείριος มีชื่อตามระบบเบเยอร์ว่า อัลฟา คานิส เมเจอริส (α Canis Majoris หรือ α CMa) ความจริงดาวที่เรามองเห็นด้วยตาเปล่าว่าเป็นดาวดวงเดียวนั้นเป็นระบบดาวคู่ ประกอบด้วยดาวสีขาวในลำดับหลัก (Main Sequence) ประเภท A1V ชื่อว่า ซิริอุส เอ (Sirius A) กับดาวแคระขาวสีจาง ๆ ในประเภท DA2 ชื่อว่า ซิริอุส บี (Sirius B)
การที่ดาวซิริอุสเป็นดาวที่สว่างที่สุด นอกจากความสามารถในการส่องสว่างของมันเองแล้ว มันยังอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ของเรามาก คือห่างไปเพียง 206 พาร์เซก (ประมาณ 8.6 ปีแสง) ระบบดาวซิริอุสถือว่าเป็นระบบดาวเพื่อนบ้านที่ใกล้ที่สุดกลุ่มหนึ่ง ดาวซิริอุสเอมีมวลประมาณ 2 เท่าของดวงอาทิตย์ และมีค่าความสว่างสัมบูรณ์ เท่ากับ 1.42 หรือคิดเป็น 25 เท่าของความสว่างของดวงอาทิตย์
แต่มันก็ยังมีความสว่างต่ำกว่าดาวฤกษ์สว่างดวงอื่น เช่น คาโนปัส หรือ ไรเจล ระบบดาวซิริอุสมีอายุเก่าแก่ราว 200-300 ล้านปี แต่เดิมประกอบด้วยดาวสีน้ำเงินสว่างสองดวง ดวงที่มีมวลมากกว่าคือ ซิริอุสบี เผาผลาญเชื้อเพลิงจนหมดและกลายเป็นดาวแดงยักษ์ ก่อนจะหดตัวลงและกลายเป็นดาวแคระขาวเช่นในปัจจุบันตั้งแต่เมื่อ 120 ล้านปีที่แล้ว
ดาวซิริอุสเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในอีกชื่อหนึ่งว่า ดาวสุนัขใหญ่ สื่อถึงชื่อกลุ่มดาวที่มันสังกัดอยู่ คือ Canis Major (ภาษาละติน แปลว่า สุนัขใหญ่) เป็นดาวที่มีเรื่องเล่าตำนานและนิทานพื้นบ้านเกี่ยวข้องมากมายยิ่งกว่าดาวฤกษ์อื่นๆ นอกเหนือจากดวงอาทิตย์
การปรากฏของดาวซิริอุสที่ขอบฟ้ายามรุ่งสาง เป็นสัญลักษณ์บอกฤดูน้ำหลากของแม่น้ำไนล์ในอียิปต์โบราณ และเป็นวันสำคัญคือ “วันสุนัข” ในฤดูร้อนของกรีซโบราณ ส่วนชาวอาหรับเผ่าคุซาอะหฺก่อนอิสลามกาลก็ได้สักการบูชาดาวดวงนี้ โดยเรียกว่า อัชชิอฺรอ ส่วนชาวโพลินีเชียนใช้ในการระบุการเข้าสู่ฤดูหนาว ทั้งยังเป็นดาวสำคัญที่ใช้นำทางสำหรับการเดินทางในมหาสมุทรแปซิฟิก
(1921)