ผายลม

ผายลม หรือ ตด ในภาษาพูด โดยทั่วไปเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของมนุษย์ ในวันหนึ่งๆ คนเราอาจผายลมได้ 10-20ครั้ง ซึ่งคิดเป็นปริมาณแก๊สที่ปล่อยออกมา คือ 0.5-1 ลิตรต่อวันผายลมเกิดจากการรวมตัวของแก๊สหลายชนิด แก๊สที่ไม่มีกลิ่น 99% มีส่วนประกอบหลักๆ ได้แก่ ไนโตรเจน คาร์บอนไดออกไซด์ ไฮโดรเจน ออกซิเจน และมีเทน ส่วนแก๊สที่มีกลิ่นมี 1% เท่านั้นซึ่งเกิดจากการหมักหมมของอาหารในลำไส้ใหญ่ และทำให้เกิดแก๊สจำพวกกำมะถัน ได้แก่ ไฮโดรเจนซัลไฟด์ ซึ่งเป็นสารที่มีกลิ่นเฉพาะตัว

ปกติคนเราขับแก๊สส่วนเกินออกจากร่างกายได้ 2 ทาง คือ การขับออกทางปาก (เรอ) และการขับออกทางทวารหนัก (ผายลม หรือตด) หากแก๊สนั้นไม่ขับออกมาจะทำให้มีการสะสมไว้ในทางเดินอาหาร จะทำให้รู้สึกอึดอัด แน่นท้อง ปวดมวนในท้อง และเกิดอาการท้องอืดตามมา

แก๊สในร่างกายเกิดจาก 2 องค์ประกอบหลัก ดังนี้
แก๊สจากภายนอกร่างกาย คิดเป็น 90% เป็นอาการที่รับเข้ามาผ่านทางปากและทวาร กล่าวคือ เมื่อเราพูดหรือกลืนอาหารก็จะกลืนอากาศเข้าไปด้วย และสาเหตุอื่นๆ อีก ได้แก่ การกินอาหารเร็วเกินไปทำให้เคี้ยวไม่ละเอียด เคี้ยวหมากฝรั่ง อมลูกอม สูบบุหรี่ การใช้ฟันปลอมที่ไม่เหมาะสม การดื่มเครื่องดื่มที่ผสมแก๊สแก๊สที่เกิดจากภายในร่างกาย คิดเป็น 10% แก๊สประเภทนี้ส่วนใหญ่เป็นแก๊สที่ผลิตขึ้นจากแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ที่ทำปฏิกิริยาย่อยสลายกากอาหาร ซึ่งแก๊สที่เกิดขึ้นจากกระบวนการย่อยนี้เมื่อรวมตัวกันแล้วก็จะเคลื่อนที่ไปสู่ลำไส้ใหญ่

แม้ว่าผนังลำไส้ใหญ่จะดูดซึมแก๊สเหล่านี้ไว้ได้ หากลำไส้ใหญ่ดูดแก๊สไม่ทันบางครั้งร่างกายก็ขับแก๊สออกมาทางลำไส้ตรง เพราะลำไส้บีบตัวเป็นจังหวะถี่เกินไป หรือเป็นเพราะการกินอาหารที่ก่อให้เกิดแก๊สมาก เช่น ถั่ว หรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับนม

(352)