รอยคดโค้ง (fold)

รอยคดโค้ง (fold) ของหินโผล่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนลักษณะที่เกิดจากผลของแรงเค้น จนเกิดความเครียดในหินโดยแสดงออกในรูปของการคดโค้ง โก่งงอ หรือหักพับ รอยคดโค้งมีได้ทั้งขนาดเล็กแบบดูด้วยตาเปล่าไม่เห็น ขนาดเท่ากับฝ่ามือ หรือใหญ่ จนปรากฏในภาพถ่ายทางอากาศหรือภาพโทรสัมผัสได้

 

การเกิดชั้นหินคดโค้งจึงต้องเกิดในสภาวะที่หินมีลักษณะอ่อนนิ่ม สามารถเคลื่อนตัวไหลและยืด ชั้นหินที่แข็งแรงแสดงชั้นชัดเจนเกิดการโค้ง มักแสดงการโค้งแบบการไหลเลื่อนไปตามชั้น (layer-parallel slippage) เหมือนการโค้งพับหนังสือ แต่สำหรับชั้นหินที่อ่อนนิ่ม

การโค้งมักแสดงในรูปไหลลื่นยืดออก หรือบางครั้งเกิดการละลายความดันในส่วนที่เป็นรอยแตกเรียบได้ โครงสร้างของรอยคดโค้งแบ่งได้เป็น โครงสร้างประทุนคว่ำ (anticline) และโครงสร้างประทุนหงาย (syncline) โดยชั้นหินแก่อยู่ล่างชั้นหินอ่อน แต่ถ้ายังไม่สามารถลำดับอายุของชั้นหินได้ควรเรียกเพียง antiform หรือ synform

ส่วนประกอบของรอยคดโค้ง
– จุดพับ (hinge point) คือ จุดที่แสดงค่าการโค้งมากที่สุด บางครั้งรอยคดโค้งไม่แสดงจุดพับที่ชัดเจน แต่อาจพบเห็นเป็นแถบหรือเขตได้ ซึ่งเรียกว่า เขตรอยพับ
– ท้องรอยคดโค้ง (fold trough) คือ ส่วนที่อยู่ต่ำสุดของชั้นหินคดโค้งที่ปรากฏให้เห็น (minimum topographic height)
– ยอดรอยคดโค้ง (fold crest) คือ ส่วนที่อยู่สูงสุดของชั้นหินคดโค้งที่ปรากฏให้เห็น (maximum topographic height)
– แขนรอยคดโค้ง (fold limb) คือ ส่วนของชั้นหินที่อยู่ระหว่างสันและท้องรอยคดโค้ง
– เส้นพับ (hinge line) คือเส้นที่ลากต่อจุดพับเข้าด้วยกัน
– จุดเปลี่ยนโค้ง (inflection point) คือ บริเวณที่มีการเปลี่ยนแนวโค้งของชั้นหินคดโค้ง
– ระนาบแกน (axial plane) หรือระนาบแกนการโค้ง คือ ระนาบสมมติที่แบ่งแขนรอยโค้งออกเท่าๆ กัน ซึ่งถ้าไม่เป็นระนาบเรามักเรียกว่า ผิวแกนการคด หรือผิวพับแกนคดโค้ง โดยทั่วไปในชั้นหินโค้งหลายชั้น ระนาบแกนเกิดจากการเชื่อมต่อเส้นพับ (hinge line) ของแต่ละชั้นเข้าด้วยกัน
– ความยาวของการคดโค้ง (wavelength) คือ ระยะทางจากสันการคดโค้งถึงท้องการคดโค้งถัดไป
– ความสูงการคดโค้ง (amplitude) คือ ระยะทางครึ่งหนึ่งที่วัดจากสัน และท้อง การคดโค้ง
– มุมกด (plunge) คือมุมเทของแนวการคดโค้ง

(1920)