นางพัลลภา เรื่องรอง กรรมการการกำกับกิจการพลังงาน (เรคกูเลเตอร์) เปิดเผยว่า เรคกูเลเตอร์มีแนวคิดที่จะคิดอัตราค่าไฟฟ้าแบบใช้บัตรเติมเงิน (พรีเพด) เหมือนกับระบบโทรศัพท์มือถือสำหรับบ้านพักอาศัย ที่ตั้งอยู่ในชุมชนแออัดที่มีอยู่จำนวน 100,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าหาบแร่แผงลอย ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้ ต้องไปพ่วงไฟฟ้าจากคนอื่นมาใช้ในการประกอบกิจการ ซึ่งมักจะถูกคิดในอัตราที่สูงกว่าค่าไฟฟ้าปกติที่เรียกเก็บทั่วไป รวมทั้งยังไม่ปลอดไม่ภัย โดยเบื้องต้นคาดว่าอัตราค่าไฟฟ้าที่คิดในระบบดังกล่าวจะต่ำกว่าค่าไฟฟ้าที่จ่ายอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งตามปกติอาจจะคิดค่าไฟฟ้าพ่วงกันที่ 5 บาทต่อหน่วยขึ้นไป
“เทคโนโลยีดังกล่าว ไม่ถือเป็นเรื่องใหม่เพราะมีการใช้กันอยู่แล้วในกลุ่มประเทศแอฟริกาใต้ รวมทั้งในประเทศไทย ที่ผ่านมาก็มีการนำร่องติดตั้งใช้มิเตอร์ในลักษณะดังกล่าวมาบ้างแล้วประมาณ1,000 มิเตอร์ โดยการลงทุนติดตั้งมิเตอร์สำหรับระบบการจ่ายไฟแบบบัตรเติมเงิน มีต้นทุนอยู่ที่ 1,000 – 2,000 บาทต่อมิเตอร์”
ทั้งนี้แนวคิดดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในแผนการปรับปรุงโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ที่ต้องพิจารณาใหม่ทุกๆ 3 ปี ซึ่งเรคกูเลเตอร์จะนำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และยังจะมีการเสนอพิจารณากติกาการใช้ไฟฟ้าใหม่อื่นๆด้วย เช่น การใช้ไฟฟ้าสาธารณะของกลุ่มคณะบุคคลที่ขอใช้สิทธิไฟฟ้าสาธารณะ ตามสถานที่ต่างๆว่ามีการใช้ตรงตามวัตถุประสงค์และเหมาะสมหรือไม่ เนื่องจากภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มีเพิ่มมากขึ้นทุกๆปีที่ทั้ง 3 การไฟฟ้าต้องมาร่วมรับภาระ รวมทั้งภาระค่าบริการการจ่ายค่าไฟฟ้ารายเดือนของประชาชนตามจุดบริการเคาน์เตอร์เซอร์วิสเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ใช้ไฟฟ้า
“นอกจากกลุ่มหาบเร่แผงลอย และบ้านพักอาศัยในชุมชนแออัดแล้ว ยังรวมไปถึงกลุ่มบ้านพักตากอากาศหรือบ้านพักหลังที่ 2 ที่ไม่ค่อยได้มาพักและในอนาคตยังอาจเพิ่มกลุ่มหอพักอาศัยและคอนโดมิเนียมด้วย ซึ่งตามแผนเดิมหากสามารถนำเข้า กพช. พิจารณาได้ภายในสิ้นปีนี้ ก็จะสามารถนำร่องใช้ได้ในกลางปีหน้า โดยแนวทางดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อรายได้ของทั้ง 2 การไฟฟ้าคือ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)
(194)