คลองปานามา คือคลองเดินเรือสมุทรที่มีความยาวกว่า 77 กิโลเมตร สร้างขึ้นบริเวณคอคอดปานามา หรือ คอคอดดาเรียนในประเทศปานามา เพื่อเชื่อมระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรแอตแลนติกเข้าด้วยกัน ทำให้ลดระยะทางที่ต้องอ้อมช่องแคบเดรกและแหลมฮอร์นไปกว่า 22,500 กิโลเมตร ส่งผลกระทบอย่างยิ่งในการเดินทางระหว่างสองมหาสมุทร
โดยคลองแห่งนี้ถูกใช้เป็นเส้นทางเรือหลักสำหรับการค้าทางทะเลระหว่างประเทศ หลังจากการเปิดทำการคลองปานามา ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ด้วยมีระวางขับน้ำกว่า 309.6 ล้านตัน คิดได้ประมาณ 40 ลำต่อวัน หรือ ร้อยละ 5 ของเรือบรรทุกทั่วโลก
แนวคิดการก่อสร้างคลองปานามามีตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 โดยมีหลักฐานการอ้างอิงถึงคอคอดในอเมริกากลาง ราวปี ค.ศ. 1524 เมื่อจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันและจักรพรรดิชาลส์ที่ 5 กษัตริย์แห่งสเปน ได้ทรงแนะนำว่า การสร้างคลองผ่านปานามาจะสร้างความสะดวกในการเดินเรือสัญจรไปมาระหว่างสเปนกับเปรูและสร้างความได้เปรียบทางยุทธวิธีเหนือโปรตุเกส หลังจากนั้นได้มีการสำรวจในช่วงปี ค.ศ. 1788-1793 เพื่อหาความเป็นไปได้และวางแผนการสร้าง
สำหรับอเมริกากลางนั้นถือได้ว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ ด้วยเป็นแผ่นดินที่มีลักษณะแคบ คั่นกลางระหว่างมหาสมุทรขนาดใหญ่ จึงมีความพยายามอย่างมากในการเชื่อมการค้าในบริเวณนี้ ช่วงปี ค.ศ. 1698 สกอตแลนด์ได้พยายามเข้ามาตั้งฐานการค้าในบริเวณคอคอดปานามา แต่เนื่องจากเงื่อนไขต่างๆไม่อำนวยทำให้ล้มเหลวไป
จากนั้นได้มีการก่อสร้างรถไฟปานามาขึ้นเพื่อข้ามคอคอดและได้เปิดใช้ในปี ค.ศ. 1855 เส้นทางนี้ได้ได้เอื้อหนุนให้มีการค้าขายที่สะดวกขึ้น และเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการสร้างคลองเชื่อมคอคอดปานามาในภายหลัง แนวคิดการก่อสร้างคลองปานามานั้นมีขึ้นอย่างต่อเนื่องหลายครั้งหลายครา แต่ก็ไม่สำเร็จ
จนในที่สุดรัฐบาลโคลอมเบียก็ได้ให้สัมปทานกับลูเซียง นโปเลียน โบนาปาร์ต ไวส์ ในการขุดคลองเชื่อมระหว่างสองมหาสมุทร ต่อมาเขาได้ขายสัมปทานต่อให้กับบริษัทสัญชาติฝรั่งเศส ภายใต้การบริหารของนายแฟร์ดินองด์ เดอ เลสเซ็ปส์ พวกเขาเริ่มดำเนินการขุดคลองทันที โดยขุดเป็นคลองในระดับที่เท่ากับน้ำทะเล โดยไม่มีประตูกั้นน้ำ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1880
ด้วยความเร่งรีบโดยขาดการศึกษาที่เพียงพอในด้านภูมิประเทศและอุทกวิทยา และโรคภัยต่างๆทำให้คนงานก่อสร้างเผชิญกับโรคระบาด เช่น มาลาเรียและไข้เหลือง ทำให้คนงานหวาดกลัวและหนีกลับประเทศเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้คนงานยังขาดประสบการณ์ภาคสนาม อาทิ การเก็บเครื่องมือหลังจากเจอฝน ทำให้เกิดสนิม รวมถึงการเกิดดินถล่ม ทำให้มีคนเสียชีวิตจากการก่อสร้างระหว่างช่วงปี ค.ศ. 1881 – 1889 กว่า 22,000 คน
ต่อมาสหรัฐอเมริกาได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการขุดคลองนี้ เนื่องจากตอนทำสงครามกับสเปนเห็นว่า การเดินทางระหว่างตะวันตกและตะวันออกเป็นเรื่องของยุทธศาสตร์ ถ้ามีคลองลัดย่นระยะทางการเดินทางของเรือรบและเรือขนส่งยุทธสัมภาระได้ก็จะเป็นผลดีอย่างยิ่งต่อการป้องกันประเทศ
พวกเขาจึงเข้าไปเจรจากับรัฐบาลโคลอมเบีย เพื่อขอเช่าพื้นที่บริเวณนั้นเพื่อควบคุมการเข้าออกคลอง แต่ตกลงเรื่องค่าเช่าไม่ลงตัว กอปรกับชาวปานามากลัวว่าโคลอมเบียไม่แบ่งผลประโยชน์ให้พวกตนเท่าที่ควร จึงเกิดการปฏิวัติและประกาศตัวเป็นประเทศเอกราช ซึ่งอเมริกาก็ได้รับรองให้เอกราชปานามา หลังจากนั้นอเมริกาก็ได้ทำสัญญากับปานามาในปี ค.ศ. 1903
โดยปานามาต้องยกที่ดินระยะกว้าง 10 กโลเมตร ตลอดแนวทางที่อเมริกาจะขุดคลองให้อเมริกา ซึ่งจะมีรัฐบาลอเมริกาเป็นผู้ดำเนินการบริหารเป็นสิทธิ์ขาดตลอดไป โดยอเมริกาจะตอบแทนเงินจำนวนเงิน 10 ล้านดอลลาร์ และจะให้อีก 250,000 ดอลลาร์ เป็นประจำทุกปี รวมถึงการที่อเมริกายอมจ่ายให้แก่โคลอมเบียเป็นเงิน 25 ล้านดอลล่าร์ในปี ค.ศ. 1921 ซึ่งหลังจากนั้นรัฐบาลโคลอมเบียได้รับรองความเป็นเอกราชของปานามาในสนธิสัญญาธอมสัน-อูรูเตีย
จากนั้นทีมก่อสร้างคลองปานามาภายใต้การกำกับของทีโอดอร์ รูสเวลต์ ได้เริ่มทำงาน เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ. 1904 โดยพวกเขาเริ่มต้นจากการปราบอุปสรรคการก่อสร้างคลองทั้งหลาย ตั้งแต่ยุงไปจนถึงหนู ด้วยการขจัดที่อยู่และแหล่งเพาะพันธุ์ พงหญ้าต่างๆ การจัดการนี้กินเวลายาวนานถึง 10 ปี
จากนั้น ค.ศ. 1914 การก่อสร้างก็ได้เริ่มต้นขึ้น โดยทางอเมริกาได้วางแผนก่อสร้างประตูกั้นคลองเป็นระยะๆและมีการใช้เครื่องมือขนาดใหญ่ที่เหมาะสมสำหรับงานใหญ่ด้วย ซึ่งแม้จะมีการเตรียมพร้อมอย่างดีและมีมีวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่พัฒนาขึ้น แต่ทางอเมริกาก็ได้สูญเสียคนงานไปกว่า 5,609 คน ในช่วงปี ค.ศ. 1904–1914 รวมแล้วมีคนงานกว่า 27,500 คน สูญเสียชีวิตจากการมาทำงานที่นี่
จากนั้นในวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1914 ก็เสร็จสิ้น นับได้ว่าคลองปานามาเป็นหนึ่งในโครงการวิศวกรรมที่ใหญ่ที่สุดและยากลำบากที่สุดที่เคยมีมา แต่มันยังไม่จบสิ้น ด้วยหลังจากสงครามดลกครั้งที่สองยุติลง อเมริกาได้เข้าครอบคลุมพื้นที่รอบคลอง ทำให้ชาวปานามาไม่พอใจสนธิสัญญาที่ทำอเมริกา ในเรื่องการมอบกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิทธิการบริหารคลองให้แก่สหรัฐว่าเป็นเรื่องอยุติธรรม ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศตึงเครียดมากขึ้น
ชาวปานามาหลายคนคิดว่า พื้นที่คลองปานามาเป็นของปานามา จากนั้นก็ได้มีนักศึกษามาประท้วง ทางอเมริกาเองก็เสริมกำลังทหารเข้าไปในบริเวณนั้น จากนั้นในปี ค.ศ. 1964 ได้เกิดการจราจลขึ้นจนมีผู้เสียชีวตเป็นชาวปานามา 20 คน และชาวอเมริกา 4 คน จนกระทั่งมีการเจรจาในปี ค.ศ. 1974 และได้ลงนามสนธิสัญญาตอร์รีโฮส-คาร์เตอร์ ระหว่างประธานาธิบดีทั้งสองประเทศ เมื่อวันที่ 7 กันยายน ค.ศ. 1977
โดยเป็นสัญญาที่ว่าด้วยขั้นตอนการครอบครองคลองให้แก่ชาวปานามาได้ควบคุมโดยอิสระ ตราบเท่าที่ปานามารับประกันว่าจะรักษาความเป็นกลาง และยอมให้สหรัฐอเมริกากลับเข้ามาได้ทุกเมื่อ จากนั้นในปี ค.ศ. 1979 อเมริกาก็ยอมคืนพื้นที่กรรมสิทธิ์ที่ดินบริเวณคลองให้แก่ประเทศปานามา
และแม้จะมีการขัดแย้งภายในของอเมริกา สนธิสัญญานี้ก็ยังมีผลมาตลอด ทุกอย่างจบสิ้นลง หลังจากที่อเมริกาได้มอบสิทธิ์บริหารคลองปานามาให้แก่รัฐบาลปานามา ภายใต้การควบคุมขององค์การบริหารคลองปานามา (Panama Canal Authority หรือ ACP) ในวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 1999
(5131)
You must be logged in to post a comment.