แพนด้าแดง คือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในวงศ์ Ailuridae ซึ่งปัจจุบันเป็นเพียงชนิดเดียวที่ยังคงสืบทอดสายพันธุ์อยู่ โดยพวกมันถูกจัดเป็นซากดึกดำบรรพ์มีชีวิตชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่บนโลกแห่งนี้ มีการกระจายพันธุ์พบตามแนวเทือกเขาหิมาลัย ตั้งแต่ภาคเหนือของประเทศอินเดีย, ทิเบต, เนปาล, ภูฏาน, จีน, พม่า และลาว ซึ่งมีพรมแดนติดกับจีน โดยอาศัยอยู่ในป่าที่มีระดับความสูงตั้งแต่ 1,500-4,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล
พวกมันมีรูปร่างหน้าตาคล้ายแรคคูนผสมกระรอก ความยาวหัวจรดลำตัว 51-64 เซนติเมตร หางยาว 50-63 เซนติเมตร มีน้ำหนัก 3-4.5 กิโลกรัม มีหัวขนาดใหญ่ จมูกแหลม ขาสั้นเหมือนหมี สีขนตามลำตัวมีหลากหลายสีทั้งน้ำตาลเข้ม น้ำตาลเหลืองและน้ำตาลแดง ขนบริเวณลำคอยาวนุ่มฟู หางเป็นพวงยาวคล้ายหางกระรอกเป็นลายปล้องสีน้ำตาลแดงสลับขาว
มีพฤติกรรมออกหากินตามลำพัง มักหากินบนต้นไม้ กินอาหารเพียงไม่กี่ประเภท เช่น ใบไม้อ่อน ไข่นก สัตว์ขนาดเล็กและผลไม้บางชนิด ช่วงเวลากลางวันคือช่วงแห่งการพักผ่อน ตัวผู้มีนิสัยหวงถิ่นแต่มักเคลื่อนย้ายไปโน่นนี่ บางครั้งเข้าไปหากินในอาณาเขตของตัวเมียด้วย ในขณะที่ตัวเมียจะอยู่เป็นหลักแหล่งในพื้นที่ครอบครองตัวเอง
ช่วงผสมพันธุ์อยู่ในเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ตัวเมียจะยอมให้ตัวผู้ผสมพันธุ์อยู่เพียง 1-3 วันเท่านั้น พวกมันจะออกลูกอยู่ในโพรงไม้หรือถ้ำขนาดเล็ก ครั้งละ 4 ตัว กินนมแม่ราว 5 เดือน และเมื่ออายุได้ 2 ปีก็จะแยกไปตามลำพัง ข้อสังเกตคือแพนด้าแดงในบริเวณภาคเหนือของอินเดียจะมีขนาดเล็กกว่าตัวที่อยู่แถบเอเชียตะวันออกและมีใบหน้าซีดจางกว่า
แพนด้าแดงมีพฤติกรรมยืนสองขาอยู่เป็นนิจ เพื่อสอดส่องศัตรูและกินอาหาร โดยในสวนสัตว์มีการปลูกต้นไผ่ เพื่อให้พวกมันยืนดึงต้นไผ่โน้มใบอ่อนลงมากิน หรือมีการขุดฐานที่อยู่ของพวกมันให้ลึกลงไป เพื่อที่พวกมันจะได้ยืนมองดูเหล่าผู้ชมนั่นเอง
(538)
You must be logged in to post a comment.