ถือเป็นโศกนาฎกรรมที่ยังคงฝังอยู่ในความทรงจำของผู้คน ถึงการเดินทางครั้งแรกและครั้งสุดท้ายของเรือไททานิกในปี ค.ศ.1912 เรือโดยสารขนาดใหญ่กว่า 268 เมตร กว้าง 28 เมตร และสูงกว่า 30 เมตร ซึ่งถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อใช้เดินทางได้ทุกฤดูกาล และได้รับสมญานามว่า “เรือที่ไม่มีวันจม”
การเดินทางของเรือไททานิก เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 1912 ด้วยเส้นทางจากท่าเรือเซาแทมป์ตันของอังกฤษไปยังเมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยภายในเรือมีบุคคลสำคัญและชนชั้นสูงของอังกฤษ ยุโรปและอเมริกาเป็นจำนวนมาก ภายใต้การบังคับของกัปตันเอ็ดเวิร์ด จอห์น สมิธ กัปตันที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งในสมัยนั้น ซึ่งการเดินทางในครั้งนี้ถือเป็นการสั่งลาอาชีพ เนื่องจากหลังจากนี้ท่านจะเกษียณแล้ว
การเดินทางในครั้งนั้นเป็นช่วงที่ธารน้ำแข็งแถบกรีนแลนด์กำลังละลาย จึงมีการระมัดระวังเป็นพิเศษ มันแล่นผ่านน่านน้ำไปอย่างราบรื่น จนกระทั่งช่วงเวลา 23.39 ของวันที่ 14 เมษายน เวรยามบนเสากระโดงได้พบก้อนน้ำแข็งขนาดยักษ์ ผู้บังคับเรือจึงรีบเลี้ยวหลบ แต่ก็ไม่ทัน ด้วยหางเสือที่เล็กเกินมาตรฐาน ทำให้ส่วนท้องเรือเฉี่ยวน้ำแข็งจนเกิดเป็นแผลฉีกขนาดใหญ่ หลังจากนั้นน้ำก็ได้ไหลเข้าท่วมชั้นสามอย่างรวดเร็ว ไม่นานข่าวลือว่าเรือจะจมก็ได้เกิดขึ้น แต่ผู้โดยสารส่วนใหญ่ไม่เชื่อ
แต่แล้วไม่กี่นาทีต่อมาพวกเขาก็ต้องรีบอพยพลงเรือสำรอง ด้วยจำนวนเรือที่ไม่เพียงพอ กัปตันจึงได้สั่งให้อพยพย้ายเด็กและผู้หญิงลงเรือไปก่อน และค่อยกระจายคนลงไป ด้วยความกลัวจึงทำให้เกิดการแย่งชิงกันลงเรือ ลูกเรือจึงต้องกระจายมาจัดการดูแล โดยมีลูกเรือบางส่วนประจำตำแหน่งหน้าที่จวบจนวาระสุดท้าย รวมถึงมีการส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือไปยังเรือใกล้ๆอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งแม้จะปล่อยเรือสำรองไปจนหมด แต่ก็ยังหลงเหลือคนอีกจำนวนมากกว่า 1,500 คน ณ ตอนนี้ระบบไฟทั้งหมดเริ่มหยุดทำงาน กอปรกับน้ำท่วมระเบียงหัวเรือ เป็นเหตุให้ท้ายเรือยกตัวขึ้นสูงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเรือได้หักกลางเป็นสองท่อน ส่วนหัวของเรือได้จมลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติกทันที
หลังจากนั้นในเวลา 02.20 ของวันที่ 15 เมษายน เรือทั้งลำก็ได้จมลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติก โดยผู้โดยสารจำนวนมากลอยคอด้วยเสื้อชูชีพ แต่น้ำทะเลที่เย็นจัดเกือบ 0 องศาเซลเซียสก็ค่อยๆบั่นทอดชีวิตของผู้โดยสารไปเรื่อยๆ กว่าเรืออาร์เอ็มเอส คาร์พาเธีย จะมาช่วยเหลือก็หลังจากนั้นสองชั่วโมง การเดินทางครั้งนั้นส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,517 คน จากผู้โดยสารและลูกเรือ ทั้งหมด 2,223 คน รอดชีวิตมาเพียง 706 คน
โศกนาฎกรรมนี้ได้ถูกนำมาเขียนเป็นหนังสือหลายเล่ม รวมถึงการเป็นแรงบันดาลใจให้กับ เจมส์ คาเมรอน ผู้กำกับภาพยนตร์ ในการสร้างสรรค์เรื่อง ไททานิค ขึ้นมา โดยเนื้อเรื่องบางส่วนได้อ้างอิงจากคำบอกเล่าของผู้รอดชีวิต และหลักฐานข้อมูลของซากเรือที่หลับใหลอยู่ใต้ผืนน้ำ
นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า หลังจากนี้ซากเรือไททานิคจะถูกแบคทีเรียย่อยสลายไปเรื่อยๆจนพังทลายไปในที่สุด ส่วนวัตถุโบราณที่ตกค้างอยู่นั้น ถูกกู้เก้บขึ้นมาประมูลกว่า 5 พันชิ้น มีมูลค่ากว่าหลายล้านดอลล่าร์สหรัฐ
(12886)
You must be logged in to post a comment.